ไก่ทอด

ความลับของร้านไก่ทอด

ไก่ทอด “รสชาติดี” “ราคาประหยัด”  จะไม่ใช่แค่สองเรื่องที่ถูกถามหาจากแบรนด์อาหารการกินอีกต่อไป แต่ผู้บริโภคยังถามต่อไปด้วยว่า ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ต่อคุณภาพสินค้าและบริการต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

สวัสดิภาพสัตว์เป็นอีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้บริโภคยุคนี้ โดยคำถามจะพุ่งเป้าไปที่การกินอยู่หลับนอน การปลอดจากโรคภัย การไม่ถูกทำให้ต้องทุกข์ทน หรือไม่สามารถจะมีพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ เพราะแม้จะเป็นเพียงสัตว์อาหารที่มีช่วงชีวิตแค่สั้น ๆ แต่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมหมายถึงความเป็นธรรมต่อสิ่งมีชีวิตที่สร้างผลกำไร และถือเป็นต้นทุนที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโดยไม่อาจปฏิเสธได้

ฉลากโปร่งใส ส่องจริยธรรมธุรกิจ

เมื่อมีคำถาม ผู้บริโภคย่อมต้องการคำตอบจากผู้ประกอบการธุรกิจ

สังคมได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในอดีต ถ้ายังจำกันได้ในกรณีของพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ที่เป็นประเด็นถกเถียงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ว่าเจ้าพืชพันธุ์เหล่านี้ เมื่อนำมาเป็นอาหารจะปลอดภัยกับคนกินหรือไม่ การเพาะปลูกจะสร้างพิษภัยแก่สิ่งแวดล้อมและชุมชนในบริเวณโดยรอบหรือเปล่า ด้วยการโต้แย้งยืดเยื้ออยู่หลายปี ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่างก็ค้นคว้าขุดคุ้ยข้อมูลมาตอบโต้กันแบบเอาเป็นเอาตาย  ก่อนจะจบลงตรงจุดที่พอจะเป็นทางออกร่วมกันว่า

ถ้าอย่างนั้นใช้วิธีติดฉลากให้รู้กันชัด ๆ ไปเลยว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาวางขายอยู่นั้น อันไหนมาจากวัตถุดิบที่เป็น GMO บ้าง จะได้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจว่าจะซื้อ หรือไม่ซื้อ แล้วฉลาก GMO ก็ได้กลายเป็นกฎกติกาของหลายประเทศ ที่ผู้ผลิตและผู้ขายต้องทำความเข้าใจก่อนจะผลิตสินค้าส่งไปจำหน่ายยังประเทศคู่ค้า ซึ่งมีรายละเอียดของข้อกำหนดเรื่องฉลาก GMO แตกต่างกันไป

ไก่ทอด

อีกกรณีคือ ฉลากคาร์บอน (Carbon label) หรือฉลากลดโลกร้อนแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงการดำเนินงานด้วยความห่วงใยสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต ด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่เป็นไปตามข้อตกลงสากล

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั้งโลกพากันตื่นตัวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ฉลากคาร์บอนจึงเป็นหลักประกันว่าผู้ประกอบการไม่ได้หมกมุ่นอยู่แต่กับผลประโยชน์ของตัวเอง โดยละเลยความเดือดร้อนของคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่เผชิญปัญหาภัยแล้ง หลายเมืองมีระดับน้ำท่วมสูงขึ้นทุกปีจนต้องย้ายเมืองหนี แม้แต่หมีขั้วโลกก็โดนผลกระทบถึงขั้นจะต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

ฉลากสวัสดิภาพสัตว์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เอกชนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เริ่มติดฉลากแบบสมัครใจ (private label) กันมาหลายปี เพื่อบอกข้อมูลสวัสดิภาพสัตว์บนผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็น เนเธอแลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร 

ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว คณะมนตรียุโรปมีมติเห็นชอบการจัดทำฉลากรับรองสวัสดิภาพสัตว์ของสหภาพยุโรป (EU-wide animal welfare label) ซึ่งจะครอบคลุมสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์มทุกประเภทตลอดทั้งวงจรชีวิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเข้าโรงเชือด โดยเป็นฉลากแบบสมัครใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตมีการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ด้วยมาตรฐานที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด ถือเป็นการให้รางวัลแก่ผู้ผลิต พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

ในอนาคต ฉลากสวัสดิภาพสัตว์มีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นมาตรฐานใช้บังคับ เช่นเดียวกับฉลาก GMO และฉลากลดโลกร้อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและปศุสัตว์ ซึ่งผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของไทยต้องติดตามเพื่อจะปรับตัวได้อย่างเท่าทันด้วยเช่นกัน

ทำดี บอกด้วย

อีกแนวทางที่ใช้กันเพื่อสื่อสารความตั้งใจของผู้ประกอบการในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เฉพาะเจาะจงไปที่ไก่เนื้อซึ่งเป็นเนื้อสัตว์ที่มีการบริโภคสูงที่สุดในโลกเพราะอร่อยได้ในราคาที่ไม่แพงนั่นก็คือการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานโดยมีองค์กรภายนอกให้การรับรอง (Third-party Audit) คล้ายกับ ISO ของภาคอุตสาหกรรม

ไก่ทอด

ในระดับฟาร์มมี Business Benchmark on Farm Animal Welfare (BBFAW) ที่เป็นการจัดอันดับการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มที่ 150 บริษัทชั้นนำระดับโลกเข้าร่วม ส่วนอาหารที่บริการถึงปากท้องของผู้บริโภค มีรายงาน The pecking order เป็นมาตรฐานคุ้มครองสวัสดิภาพไก่เนื้อในร้านฟาสต์ฟู้ด ซึ่งเริ่มจัดทำเมื่อปี 2562 โดยมีฟาสต์ฟู้ดระดับโลกเข้าร่วม 9 แห่ง เช่น KFC, McDonald’s, Starbucks, Pizza Hut เป็นต้น

เกณฑ์ที่กำหนดใน The pecking order สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของ Better Chicken Commitment ซึ่งริเริ่มโดยองค์กรปกป้องสิทธิสัตว์หลายแห่ง โดยมีบริษัทผลิตอาหารชั้นนำกว่า 200 แห่งร่วมลงชื่อเพื่อสร้างพันธะสัญญาในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดพื้นฐาน อาทิ การควบคุมไม่ให้ไก่อยู่อาศัยอย่างเบียดเสียด การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่โตช้า การให้ไก่ได้รับแสงจากธรรมชาติ และมีพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่น ติดตั้งคอนให้ไก่บินไปเกาะได้ เป็นต้น

ข้อกำหนดเหล่านี้สร้างหลักประกันสวัสดิภาพไก่ พร้อมกับยืนยันความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจะทำให้ไก่เจ็บป่วยได้ง่าย ฟาร์มต้องใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งอาจตกค้างในผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาด และปัญหาเชื้อดื้อยา แพ้ยา รวมทั้งอาการข้างเคียงอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้

The pecking order จัดทำรายงานโดยการพิจารณาจาก 1. นโยบาย โดยบริษัทมีนโยบายและมาตรการในการปกป้องสวัสดิภาพไก่  2. เป้าหมายที่ชัดเจน บริษัทมีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ที่ชัดเจนติดตามวัดผลได้  3. รายงานความคืบหน้า บริษัทมีการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานในการปรับปรุงสวัสดิภาพไก่  โดยแต่ละส่วนมี 6 คำถามให้บริษัทต้องตอบ และคำตอบของบริษัทจะถูกใช้เพื่อจัดลำดับตามคะแนนที่ได้ใน 6 ลำดับ ตั้งแต่เป็นผู้นำไปจนถึงแย่มาก

ในปี 2562  KFC เป็นฟาสต์ฟู้ดเพียงหนึ่งเดียว ที่มีความก้าวหน้าในการดูแลสวัสดิภาพไก่  ขณะที่แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดยอดแย่ ได้แก่ Burger King, Pizza Hut และ Domino’s  ส่วน SUBWAY และ Starbucks ถูกจัดในลำดับของการเริ่มต้นดำเนินงาน

ลับ ลวง พราง ชะตากรรมไก่ไทย

ในบรรดาแบรนด์อาหารจานด่วนข้ามชาติ (Quick Service Restaurant – QSR)  ไก่ทอด ครองตลาดอันดับหนึ่ง ทั้งในประเทศไทยและประเทศร่วมภูมิภาค คนเอเชียต้อนรับการเข้ามาของเมนูไก่ทอดจากชาติฝั่งตะวันตกได้สนิทใจด้วยรสชาติที่คุ้นลิ้นและสไตล์การกินที่คุ้นเคยมากกว่าถ้าเทียบกับแฮมเบอร์เกอร์และพิซซ่า ทำให้ตลาดไก่ทอดกลายเป็นสมรภูมิรบที่ผู้ค้ารายใหญ่ทั้งแบรนด์ไทยและต่างชาติต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านด้วยสารพัดกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินเดิมพันมูลค่านับหมื่นล้านบาทในแต่ละปี อีกทั้งตลาดไก่ทอดยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้จะเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 

ถ้าถามผู้บริโภคชาวไทยถึงแบรนด์ไก่ทอด เชื่อได้เลยว่าหน้าของคุณลุงผู้พันจะลอยมาเป็นคนแรก จึงไม่น่าแปลกใจที่ KFC จะครองตลาดส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของตลาดไก่ทอดไทย ด้วยสาขากว่า 800 แห่ง กับตัวเลขการขายไก่กว่า 25 ล้านชิ้นต่อเดือน คูณ 12 เดือน เท่ากับ 300 ล้านชิ้นต่อปี นั่นหมายถึงไก่จากฟาร์มจำนวนหลายสิบล้านตัว 

ทว่า ไก่เหล่านั้นกลับใช้ชีวิตอย่างเป็นปริศนา

ประเด็นเรื่องไก่ใช้ฮอร์โมน ใช้ยาปฏิชีวนะ กับผลกระทบต่าง ๆ นานา เป็นความกังวลที่อยู่กับคนไทยมาช้านาน แม้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบจะจัดทำระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ปีก ณ สถานที่เลี้ยง พ.. 2542 รวมทั้งระเบียบที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ เพื่อกำหนดมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ รวมถึงการใช้ยาในฟาร์ม และการใช้ยาสำหรับสัตว์ กระนั้น ความหวาดวิตกของผู้บริโภคไทยก็ไม่เคยหมดไป ซ้ำเป็นประเด็นที่ยังมีน้ำหนัก

ไก่ทอด

จากการทดสอบของโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ เมื่อปี 2561 มีการสุ่มเก็บ 62 ตัวอย่างไก่จากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ พบว่ามียาปฏิชีวนะตกค้างสูงถึง 26 ตัวอย่าง

ในฐานะ FC ไก่ทอด ย่อมอยากจะอร่อยแบบมั่นใจได้ว่าเมนูโปรดไม่อยู่ในกลุ่มที่เป็นปัญหา ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนเกือบ 20,000 คน จึงได้ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ KFC ประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ใน Better Chicken Commitment ภายใต้การณรงค์ในโครงการ Change for Chickens โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) และภาคีเครือข่าย

ปัญหาอยู่ตรงที่ ถึง KFC จะไต่อันดับสู่การเป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ด ที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้ได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าในการดูแลสวัสดิภาพไก่ที่ถูกนำมาแปลงเป็นรายรับมูลค่ามหาศาล แต่นโยบายดังกล่าว ซึ่งสะท้อนชัดถึงความรับผิดชอบและจริยธรรมของผู้ประกอบการ กลับไม่ถูกใช้กับสาขาของ KFC นอกสหภาพยุโรป 

คำตอบที่ได้จากแบรนด์ไก่ทอดอันดับหนึ่งของไทย มีเพียงความเงียบ ที่ทำให้สวัสดิภาพไก่หลายสิบล้านตัวยังคงเป็นเรื่องที่สังคมไม่อาจล่วงรู้ นับว่าน่าเสียดาย

เพราะถ้าผู้ประกอบการมองการเปิดเผยข้อมูลที่มีคนตั้งข้อสงสัย ให้เป็นโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า รวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้เรื่องนี้ win-win สำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นไก่ คนกิน รวมถึงธุรกิจเอง

ที่มา:

-ฉลาดซื้อ พบเนื้อไก่สดและตับไก่สด กว่าร้อยละ 40 มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ. เว็บไซต์ มูลนิธิผู้บรีโภค (สืบค้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564)

-แนวโน้มฉลากอาหารในสหภาพยุโรป เพื่อสนับสนุนสุขภาพมนุษย์/สัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และความยั่งยืน. สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับที่ 41/2563)

-ระเบียบการติดฉลากอาหารของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (กันยายน 2561)

-เว็บไซต์ KFC, www.kfc.co.th/

-KFC ขย่มหนักย้ำแชมป์ไก่ทอด ปูพรมสาขาเพิ่มบริการใหม่รับตลาดโต. เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ประชาชาติ (8 เมษายน 2564)

-The Business Benchmark on Farm Animal Welfare (BBFAW). 2020

-The Pecking Order 2020. World Animal Protection (2020)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

สภาองค์กรของผู้บริโภค พลังใหม่สร้างสังคมเป็นธรรม

สวัสดิภาพไก่ ทำไมจึงสำคัญ!?

แผนจัดการขยะพลาสติกเหลว ไร้ทิศทาง-ขาดรูปธรรม มีแต่นโยบายเอาไว้โชว์

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน