อาการลองโควิด

รู้จัก ‘อาการลองโควิด’ อีกหนึ่งในความลึกลับ พบจากผู้หายป่วยโควิด

อาการลองโควิด พบในผู้หายป่วย นับเป็นอาการที่แปลกประหลาดจากเชื้อโควิด เมื่อผู้ป่วยจะมีอาการสารพัดอย่าง ทั้ง ๆ ที่หายแล้วและไม่พบเชื้อในร่างกาย

ในต่างประเทศ มีการรายงานถึงความผิดปกติของผู้ป่วยโควิด-19 ก่อนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) จะได้ข้อสรุปว่า ผู้ป่วยโควิดที่รักษาหาย มีโอกาสเกิดภาวะ “ลองโควิด (Long COVID)”

แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษา หรือเก็บข้อมูลผู้ป่วย ดังนั้นจึงไม่รู้ว่ามีผู้ป่วยเป็น “ลองโควิด” มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่ต่างประเทศพบในสัดส่วนค่อนข้างมาก ที่มีอาการทั้งทางกายและจิตใจ

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า ผู้ป่วยหลายรายจะหายป่วยและตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้ว แต่อาจจะยังมีอาการหลงเหลืออยู่ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่าภาวะลองโควิด” (Long COVID) หรืออาการหลงเหลือของเชื้อโควิด-19 ระยะยาว

“เป็นภาวะที่สามารถพบได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากหายป่วยในช่วง 1-3 เดือนแรก พบได้ 30-50% ของผู้ป่วยโรคโควิด-19″

“ลองโควิด” อาการเป็นอย่างไร

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา บอกว่าอาการของ “ภาวะลองโควิด” แสดงออกได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกันไม่มีลักษณะตายตัว เช่น ไอ, มีไข้, ปวดศีรษะ,การรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง, เจ็บหน้าอก, หายใจไม่อิ่ม, เหนื่อยล้า, ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ หรือท้องเสีย

“อาการทั้งหมดนั้นเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง และในบางรายอาจมีอาการทางจิตใจ เช่น วิตกกังวล สมาธิสั้นลง หรือซึมเศร้าร่วมด้วย”

ทั้งนี้ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีแดง หรือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง จะมีโอกาสเกิดภาวะลองโควิดสูงกว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อย เนื่องจากอาจมีปัจจัยเรื่องความเครียดที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงป่วยเป็นโรคโควิด-19 จึงส่งผลต่อเนื่องที่อาจยาวนานถึง 3-6 เดือนกว่าจะกลับมาเป็นปกติ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะลองโควิดด้วย เช่น อายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และเรื่องเพศที่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหอบหืด และผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

“ผู้ที่หายป่วยแล้วไม่ต้องกังวลใจ”

แนะหากกังวลมากให้พบแพทย์

แต่หากผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 แล้วยังมีอาการที่กล่าวมา แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากบางรายอาจเป็นผลจากตัวยาที่ใช้ในการรักษา หรือบางรายอาจจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมและทำการรักษาให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ในผู้หายป่วยแล้ว ที่บางรายอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำได้ โดยเฉพาะการติดเชื้อที่ต่างไปจากสายพันธุ์เดิม แต่อาจไม่แสดงอาการชัดเจน

ดังนั้นผู้ป่วยโควิด-19 แม้หายป่วยแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาแม้อยู่บ้าน หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% และไม่ไปในแหล่งชุมชนแออัด หรือสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท 

พบในผู้ป่วยแสดงอาการมากกว่า

กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ระบุว่าเด็กชาวอิสราเอล 11.2% ที่หายดีจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มีอาการเรื้อรังอันเป็นผลระยะยาวของโรคโควิด-19

คณะนักวิจัยสำรวจผลตามหลังระยะเฉียบพลันของโควิด-19 (PASC) หรือลองโควิด” (long COVID) ในหมู่ผู้ปกครอง 13,834 คน ซึ่งเป็นผู้ปกครองของเด็กอายุ 3-18 ปี ที่หายดีจากโรคโควิด-19 พบว่าผู้ป่วยเด็กที่หายดีแล้วในอิสราเอล 11.2% มีอาการเรื้อรังของโรคโควิด-19

ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างการป่วยแบบแสดงอาการและความเป็นไปได้ที่จะมีอาการเรื้อรัง โดย 5.6% ของกลุ่มวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่ป่วยโรคโควิด-19 แบบแสดงอาการ มีอาการเรื้อรัง แต่สัดส่วนดังกล่าวของกลุ่มผู้ป่วยแบบไม่แสดงอาการอยู่ที่ 3.5% ซึ่งยังคงพบเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้ในกลุ่มอายุอื่นๆ ด้วย

เกิดภาวะอาการต่าง ๆ อาจยาวนานกว่า 1 ปี

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guardian) รายงานว่าระยะ “ลองโควิดส่งผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อราว 10-30% โดยภาวะอาจเกิดเรื้อรังนานกว่า 1 ปี และอาจเกิดพร้อมกับอาการอื่น ๆ อีก 200 ประเภท เช่น อ่อนเพลียรุนแรง สมองล้า และหายใจลำบาก รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะ 10 ระบบ

ผู้ป่วยลองโควิดอาจสังเกตการติดเชื้อระยะแรกได้ยาก เนื่องจากแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสฯ อาจหายไปภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน และการไม่มีผลตรวจโรคเป็นบวกอาจทำให้บุคลากรการแพทย์ปฏิเสธความเชื่อมโยงระหว่างอาการกับเชื้อไวรัสฯ โดยผู้ป่วยหลายรายถูกบอกว่าอาการเหล่านั้นเป็นเรื่องที่คิดไปเอง

ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยลองโควิดเหล่านี้จึงติดอยู่ชายขอบทางการแพทย์ และพานพบนานาอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษาที่คลินิกสำหรับลองโควิด รวมถึงความท้าทายด้านการอนุมัติประกันและผลประโยชน์สำหรับผู้พิการ

ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางรายใช้เงินหลายหมื่นดอลลาร์กับการจ่ายค่ารักษาทางการแพทย์ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคโควิด-19 ที่ล่าช้าบีบบังคับให้พวกเขาต้องแสวงหาผู้เชี่ยวชาญที่ไม่อยู่ในความครอบคลุมของประกัน

อังกฤษพบมากกว่า 2 ล้านคน

เช่นเดียวกับ ข้อมูลจากงานวิจัยของสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่าประชาชนในอังกฤษอาจมีอาการป่วยระยะยาวจากโควิด-19 ซึ่งเรียกว่าภาวะโควิดระยะยาวหรือลองโควิด” (Long COVID-19) มากกว่า 2 ล้านราย

การศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 กว่า 1 ใน 3 ที่มีอาการป่วย อาทิ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก หรือเจ็บหน้าอก เป็นเวลานานอย่างน้อย 12 สัปดาห์ ซึ่งผลการศึกษานี้อ้างอิงข้อมูลจากประชากรวัยผู้ใหญ่ 508,707 ราย ที่เข้าร่วมการศึกษาช่วงเดือนก.ย. 2020 จนถึงเดือนก.พ. 2021

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เก็บข้อมูลจากการที่ผู้เข้าร่วมรายงานอาการป่วยของตนเอง ดังนั้นอาจประเมินจำนวนผู้มีอาการลองโควิดสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากอาการป่วยเหล่านี้พบได้บ่อยและไม่ได้มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพียงอย่างเดียว

ศาสตราจารย์พอล เอลเลียต ผู้อำนวยการโครงการรีแอค ระบุว่าผลการศึกษาของเราทำให้เห็นภาพที่น่าเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงระหว่างการออกนโยบายหรือวางแผนต่าง ๆ

เรายังไม่เข้าใจลองโควิดได้ดีนัก แต่เราหวังว่างานวิจัยของเราจะช่วยให้เราสามารถระบุและจัดการกับอาการป่วยนี้ได้ดีขึ้น ข้อมูลของเราและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องชี้ว่าอาการป่วยนี้อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสหราชอาณาจักรหลายล้านคน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

การเดินทางกับครอบครัวยุคโควิด เคล็ดลับการดูแลที่คนมักหลงลืม

คู่มือสำหรับ’คนในครอบครัว-ผู้ดูแล’ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านยุคเตียงเต็ม

ชุดตรวจ ATK ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน