อันดับมหาวิทยาลัยโลก ดีที่สุด สำหรับใครที่เล็ง ๆ เรียนต่อ MBA ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้มีการจัดอันดับจากบรรดามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก ปรากฏว่า 20 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐ
QS Quacquarelli Symonds บริษัทวิเคราะห์ด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลก รายงานผลการจัดอันดับประจำปีสถาบันการศึกษาระดับชั้นนำของโลก เพื่อการศึกษาต่อสำหรับผู้บริหารธุรกิจที่ต้องการแสวงหาอนาคต โดยผลการประเมินประกอบด้วยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่เปิดสอนหลักสูตร MBA แบบเต็มเวลา หรือ QS World University Rankings: Global Full-Time MBA และการจัดอันดับหลักสูตรปริญญาโทด้านธุรกิจ Business Masters Rankings ที่ได้รับความนิยมสูง
ผลการจัดอันดับ Stanford GSB ได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตร MBA ดีที่สุดอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ Harvard Business School ไต่ขึ้นมาจากอันดับที่ 4 ครองอันดับ 2 ร่วมกับ The Wharton School
ผลการจัด 20 อันดับ มีทั้งมหาวิทยาลัยในสหรัฐและยุโรป โดย HEC Paris ของฝรั่งเศส ติดอันดับ 4 ขณะที่ London Business School ติดอันดับ 6 ขยับจากอันดับ 7 ในปี 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้
– HEC Paris ได้รับเลือกเป็นผู้นำหลักสูตร MBA ที่ดีที่สุดในยุโรป (อันดับ 4 ขึ้นจากอันดับ 5)
– London Business School ครองอันดับ 1 สำหรับหลักสูตร MBA ในสหราชอาณาจักร (อันดับ 6 ขึ้นจากอันดับ 7)
– IE Business School ของสเปนขยับจากอันดับ 9 สู่อันดับ 7 ร่วมกับ IESE Business School (อันดับ 10 ขึ้นจากอันดับ 11)
– Melbourne Business School (รั้งอันดับที่ 26) เป็นผู้นำด้านหลักสูตร MBA ที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิก
– มหาวิทยาลัย National University of Singapore ครองอันดับที่ 28 และ Nanyang Technological University ครองอันดับที่ 29 โดยเป็นมหาวิทยาลัยเพียงสองแห่งของเอเชียที่มีหลักสูตร MBA แบบเต็มเวลาซึ่งติดอันดับ Top 30 ของโลก
สำหรับสถาบันที่ครองอันดับหนึ่งในการจัดอันดับหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทของ QS แยกตามสาขาวิชาทั้ง 5 ได้แก่
– Masters in Business Analytics: MIT-Sloan Business School
– Masters in Finance: Oxford-Saïd ยังคงรั้งอันดับเดิม
– Masters in Management: HEC Paris
– Masters in Marketing: HEC Paris
– Masters in Supply Chain Management: Center for Transportation & Logistics แห่ง Massachusetts Institute of Technology
การจัดอันดับหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับปริญญาโทแต่ละรายการ จะมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของโครงการ โดยใช้เกณฑ์ชี้วัดหลัก 5 ด้าน คือ ความเหมาะสมสำหรับการจ้างงาน, ความเป็นผู้ประกอบการและความสำเร็จของศิษย์เก่า, ผลตอบแทนจากการลงทุน, ความเป็นผู้นำทางความคิด และความหลากหลายในชั้นเรียนและคณะ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ปิดตำนาน 500 ปีการพิมพ์ในอังกฤษ
บัฟเฟตต์แนะเคล็ดลับคนหนุ่มสาว ‘ฝึกเขียน-พูดให้กระจ่าง’ จุดเริ่มต้นความสำเร็จ