สถิติฆ่าตัวตาย จากภาวะเครียด ซึมเศร้า ของประชาชนชาวไทย เป็นข้อมูลสำคัญที่นำเสนอมาตลอดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ในบ้านเรา ปีที่ผ่านมา จนถึงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยขยับสูงขึ้นเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผลกระทบมาปรากฏชัดเอาในปี 2542 อัตราการฆ่าตัวตายพุ่งไปที่ 8.60 คนต่อประชากร 1 แสนคน/ปี หลังจากนั้นเป็นต้นมาตัวเลขก็ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 5-6.5 คนต่อประชากร 1 แสนคน/ปีมาตลอด 20 ปี
แต่เมื่อโควิดแพร่ระบาด สถิติก็เพิ่มสูงขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 7.37 คนต่อประชากร 1 แสนคน สูงขึ้นจากปี 2562 ราว 10% และเพียงแค่ 5 เดือนแรกของปีนี้ สถิติก็สูงขึ้นจนใกล้เคียงกับปี 2563 ตลอดทั้งปี
ข้อมูลน่าสนใจที่แทรกอยู่ในการนำเสนอข่าวและสถิติการฆ่าตัวตายไม่ว่าจะในปี พ.ศ.ใด คือประเด็นที่ว่าผู้ชายฆ่าตัวตายได้สำเร็จสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า และเมื่อย้อนกลับไปดูอัตราการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า พบว่าผู้หญิงเป็นซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความแตกต่างในเรื่องเพศของสองกรณีนี้
“ซึมเศร้า” ต้นทางฆ่าตัวตาย
เมื่อวิกฤตโควิด-19 มาเยือน ข้อมูลจากกรมสุขภาพระบุว่า ประชาชนมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น และพบว่าส่วนใหญ่เป็นความเครียดจากโควิด แม้การฆ่าตัวตายจะมาจากหลายสาเหตุ แต่กลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าจากความเครียดสะสม รวมทั้งกลุ่มที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่ก่อนแล้ว เมื่อต้องมาเผชิญกับสถานการณ์วิกฤต คนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่หน่วยงานรับผิดชอบต้องเฝ้าระวัง และหาแนวทางการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ
ผู้หญิงป่วยซึมเศร้ามากกว่าผู้ชายองค์กรอนามัยโลกระบุว่า มีหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าเพศสภาวะ (gender) ที่สังคมกำหนดว่าเพศหญิงและเพศชายควรมีบทบาทและพฤติกรรมอย่างไร มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของคนเรา
รศ.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาถึงโรคซึมเศร้าของผู้หญิง พบว่าการถูกปลูกฝังให้ต้องดูแลคนในครอบครัว ต้องคิดถึงลูกเป็นที่หนึ่ง ต้องรับภาระงานบ้าน และยังต้องยอมรับบทบาทของฝ่ายชายที่จะไปมีสังคมนอกบ้าน มีเพื่อนฝูงสังสรรค์ แม้แต่การไปมีหญิงอื่น สังคมยังย้อนมาตั้งคำถามว่าเพราะผู้หญิงบกพร่องอะไรหรือเปล่า
เป้าหมายของ รศ.สมพร คือการหาแนวทางการดูแลผู้ป่วยหญิงได้อย่างเหมาะสม กระทั่งข้อเสนอว่าก่อนจะนึกถึงคนอื่น ผู้หญิงควรนึกถึงตัวเองก่อน ก็ยังได้รับคำตอบจากผู้ป่วยว่าถ้าทำแบบนั้นยิ่งรู้สึกผิดต่อบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง และเป็นทุกข์หนักกว่าเดิม
อีกข้อมูลน่าสนใจเรื่องความเชื่อมโยงกันของโรคซึมเศร้ากับการฆ่าตัวตาย พบว่าที่จริง ผู้หญิงทำร้ายตัวเองและลงมือฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่จำนวนผู้ชายที่ฆ่าตัวตาย “และตาย” ต่างหากที่สูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า
จุดตายคือ “ลูกผู้ชายต้องอดทน”
เมื่อผู้หญิงฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตาย ผู้ชายก็ใช่ว่าจะรอดจากโรคซึมเศร้า ประเด็นอยู่ที่ผู้ชายมักจะมองข้ามอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ไม่ปริปาก ไม่ขอความช่วยเหลือ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าชายไม่ปรากฏในสารบบ
สุมาลี โตกทอง ผู้ประสานงานโครงการเสริมศักยภาพการเฝ้าระวังความรุนแรงทางเพศในครอบครัวและชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ชายในชุมชน 20 คน พบว่า ในสถานการณ์โควิด ผู้ชายซึ่งถูกสังคมคาดหวัง (และคาดหวังกับตัวเอง) ว่าจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว ต้องแบกรับความเครียดเรื่องการหารายได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย และไร้ความหวังเมื่อมองไปในอนาคต
“พบว่าส่วนใหญ่ไม่คุยปัญหากับคนในครอบครัว เพราะไม่อยากแสดงความกังวล โดยมองเป็นความอ่อนแอของตัวเอง หลายคนหาทางออกด้วยการแอบตั้งวงกินเหล้าสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งวงเหล้าก็ไม่ใช่ที่พูดคุยปัญหา เทียบกับผู้หญิงถ้ามีปัญหามักหาทางออกด้วยการคุยกับคนที่ไว้ใจ”
ความเครียดที่สะสม บวกกับการขาดความเท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหา ทั้งผลกระทบจากโควิด และทัศนคติเรื่องผู้หญิงผู้ชาย สุมาลีมองเป็นจุดเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทั้งต่อตนเองและคนในครอบครัว
ที่มา :
เพศหญิงหรือความเป็นหญิง…จึงนำมาสู่การเป็นโรคซึมเศร้า, สมพร รุ่งเรืองกลกิจ และคณะ, วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (2555)
รายงานอัตราการฆ่าตัวตายของประเทศไทย, ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์
โรคซึมเศร้า… ภัยเงียบของผู้ชาย, สุรชัย เกื้อศิริกุล, ผศ.นพ., เว็บไซต์ โรงพยาบาลมนารมย์
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
‘ความเครียดส่งต่อ’ คนทำงานคลินิกแก้หนี้ รับไม่ไหวต้องพึ่งกรมสุขภาพจิต
ชีวิตในวิถีความปกติใหม่ “ของจริง” กำลังมาพร้อมกับไวรัสกลายพันธุ์
คู่มือสำหรับ’คนในครอบครัว-ผู้ดูแล’ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านยุคเตียงเต็ม