จีนได้เปลี่ยนนโยบายการมีลูกของประเทศจีนครั้งใหญ่ โดยอนุญาตให้คู่สามีภรรยามีลูกได้สูงสุดถึง 3 คน รวมทั้งมาตรการเสริม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับพ่อแม่ หวังจูงใจให้คนมีลูกกันมากขึ้น
นโยบายนี้มีที่มาจากการประชุมคณะกรรมการถาวรประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน โดยฝ่ายนิติบัญญัติลงมติเห็นชอบการแก้ไขกฎหมายประชากรและการวางแผนครอบครัว
เป้าหมายสูงสุดของนโยบาย คือการแก้ปัญหาด้านประชากร ที่อัตราการเกิดของจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (HBS) ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว จำนวนเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 10 ล้านคนต่อปี เทียบกับ 16 ล้านคนต่อปี เมื่อ 20 ปีก่อน
ปัญหาเกิดน้อยเชื่อมโยงกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน คนจีนอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ย้อนไป 10 ปีที่แล้ว สัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 5.4 เท่านั้น ผู้สูงอายุที่กินสัดส่วนประชากรเพิ่มขึ้น คือภาระรายจ่ายของรัฐที่จะต้องดูแล ขณะที่จำนวนคนวัยทำงานซึ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีให้กับรัฐกลับมีจำนวนลดลง
ปัญหาโครงสร้างทางเพศประชากรจีน
หลายคนสงสัยว่า ปัญหานี้เป็นผลจากนโยบายลูกคนเดียวในอดีตหรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะปัญหาของนโยบายลูกคนเดียวกลายเป็นเรื่องของสัดส่วนประชากรหญิงชาย ซึ่งจีนรับมืออย่างได้ผลมาแล้ว
หลายคนเคยได้ยินเรื่องนโยบายที่จำกัดให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้แค่ 1 คน ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อลดอัตราเกิด ซึ่งประเทศจีนเคยได้ชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
แต่ผลข้างเคียงอันดับแรกจากนโยบายนี้ คือครอบครัวจีนที่อยากได้ลูกชาย พออัลตร้าซาวด์พบว่าเด็กจะเกิดมาเป็นผู้หญิงก็จะพากันไปทำแท้งเพื่อรักษาโควต้ามีลูก หลายปีผ่านไป ในจำนวนประชากรจีนราว 1.4 พันล้าน กลายเป็นประชากรเพศชายเสียเป็นส่วนใหญ่

ผลข้างเคียงถัดมา เมื่อผู้หญิงมีน้อยกว่า ตลาดการเลือกคู่ครองจึงเป็นของพวกเธอ ครอบครัวฝ่ายหญิงคัดสรรชายหนุ่มที่มีกำลังทรัพย์ โดยวัดกันที่ค่าสินสอด แม้แต่หมู่บ้านในชนบท ยังเรียกค่าสินสอดกันที่หลักล้านบาท จนหน่วยงานท้องถิ่นต้องกำหนดเพดานค่าสินสอดไม่เกินหลักแสน เกินกว่านั้นถือว่าเข้าข่ายค้ามนุษย์
มาดูทางฝั่งหนุ่มจีน เมื่อต้องอยู่ในตลาดที่แข่งขันสูง หนุ่มชาวนายากจนจากชนบทกลายเป็นคนที่ไม่ถูกเลือก นำไปสู่ข่าวการนำเข้าเจ้าสาวจากเวียดนาม กัมพูชา ไปจนถึงอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทจัดหาคู่ จนเกิดกรณีการถูกล่อลวงต้มตุ๋น ทั้งฝั่งหนุ่มจีนให้ต้องเสียทรัพย์ไปฟรี ๆ ขณะที่หญิงจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกหลอกไปขาย รัฐบาลจีนต้องเข้าช่วยเหลือส่งกลับประเทศบ้านเกิดปีละเป็นพันคน
ปัญหาสัดส่วนประชากรหญิงชาย คลี่คลายลงได้ด้วยการผ่อนปรนนโยบายมีลูกคนเดียว โดยในปี 2559 รัฐบาลจีนอนุญาตให้คู่แต่งงานมีลูก 2 คนได้ ทำให้ผลสำรวจประชากรล่าสุด พบว่าสัดส่วนหญิงชายได้สมดุลที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยผู้ชายอยู่ที่ร้อยละ 51 ผู้หญิงร้อยละ 49
ผู้หญิงจีนยุคใหม่ ‘เก่ง-รวย-สวย-โสด’
รัฐบาลจีนจะแก้ปัญหาโครงสร้างอายุประชากร ได้เหมือนที่จัดการเรื่องเพศหรือไม่?
โครงสร้างอายุประชากรที่บิดเบี้ยว ด้านหนึ่งเป็นผลจากนโยบายมีลูกคนเดียวที่ได้แรงเสริมจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการคุมกำเนิด และการดูแลสุขภาพทำให้คนมีอายุยืนขึ้น อีกด้านคือนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่ดึงแรงงานจากชนบทเข้าเมือง คนวัยแรงงานต่างรับรู้ถึงค่าครองชีพที่สูงลิ่วจนยากจะรับมือแม้จะใช้ชีวิตโดยลำพัง ยังไม่ต้องพูดถึงการมีภาระเพิ่มจากการมีลูก
ด้านการศึกษา คนจีนรุ่นใหม่เรียนสูงขึ้น สาวจีนยุคใหม่มีค่านิยมที่เปลี่ยนไป เมื่อเรียนสูง ทำงาน มีรายได้ พึ่งพาตัวเองได้ หลายคนเลือกชีวิตอิสระ มุ่งหน้าเก็บเงิน สร้างฐานะ ผู้หญิงจีนวัยทำงานกลายเป็นกลุ่มที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์สูง ด้วยความคิดที่ว่าถ้าไม่ได้แต่งงานก็มีบ้านอยู่ หรือถ้าแต่งงานแล้วเลิกกันก็ยังมีบ้านอยู่เป็นของตัวเอง
ส่วนคู่แต่งงาน พอแต่งงานแล้ว จำนวนมากเลือกเลี้ยงหมาแมวแทนที่จะเลี้ยงลูก จนตลาดอาหารสัตว์จีนกลายเป็นตลาดใหญ่ซึ่งเป็นที่หมายตาของประเทศผู้ผลิตอาหารหมาแมว รวมทั้งไทย
ปัญหาโครงสร้างอายุประชากรของจีน ถ้าเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทย สถานการณ์โดยรวมก็แทบจะเป็นเรื่องราวเดียวกัน ขณะที่จีนออกมาตรการส่งเสริม ทั้งด้านการคลัง ภาษี การศึกษา ที่อยู่อาศัย การจ้างงานผู้หญิงหลังคลอด และการเลี้ยงดูลูก เพื่อให้คนอยากมีลูก รัฐบาลไทยก็ใช้แนวคิด “ทุกการเกิดและเติบโต มีคุณภาพ” กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบาย “วิวาห์สร้างชาติ” ดูแลสุขภาพคู่แต่งงาน กระทรวงแรงงานกำลังปรับเกณฑ์อุดหนุนสถานประกอบการในการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็ก เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก
นับเป็นเรื่องท้าทาย สำหรับรัฐบาลจีนที่เคยจัดการปัญหาสัดส่วนเรื่องเพศของประชากรอย่างได้ผลมาแล้ว เช่นเดียวกับไทย ด้วยโจทย์เดียวกันที่ว่า นโยบายแบบไหนจะชักชวนให้คนรุ่นใหม่มีลูกมากขึ้นได้