ร้านหนังสือ เป็นอีกธุรกิจที่เผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากกระแส E-Books ที่มาช่วงชิงนักอ่านยุคใหม่ที่เติบโตมากับอุปกรณ์เคลื่อนที่หลากหลายประเภท ยังเจอการแข่งขันจากร้านหนังสือออนไลน์ ที่พร้อมส่งถึงมือนักอ่านได้ตลอด 24 ชั่งโมง
ชะตากรรมของร้านหนังสือในไทย ก็ไม่ต่างกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ทุกวันนี้หาร้านหนังสือแทบไม่เจอ หากไม่ได้เดินทางร้านหนังสือมหาวิทยาลัย รวมทั้งบรรดาแผงขายหนังสือตามตลาดซอกซอยก็พอหายไปด้วย ทำให้เริ่มพูดถึงยุคสุดท้ายของ “หนังสือกระดาษ”
แต่หนังสือกระดาษ มีคุณค่ามากกว่าเรื่องเนื้อหาสาระในหนังสือ มีความสุนทรีย์มากกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อได้สัมผัสจากการอ่าน อีกท้งคนรุ่นใหม่หลายคนก็มีความใฝ่ฝันจะมีร้านหนังสือเล็ก ๆ สักแห่ง แต่นั่นก็เป็นความฝัน โดยเฉพาะในเมืองที่มีค่าใช้จ่ายสูง
เช่นเดียวกับในจีน การเปิดร้านหนังสือของตัวเองเป็นหนึ่งในความฝันของ หลี่ ซูหว่าน หญิงสาวชาวจีนผู้รักการอ่าน ซึ่งได้ลงมือเปลี่ยนฝันให้กลายเป็นจริงเมื่อปี 2018 และเริ่มต้นอาชีพเจ้าของร้านหนังสือใจกลางกรุงปักกิ่งเมืองหลวงของจีนด้วยวัย 36 ปี
“ฉันคิดว่าร้านหนังสือควรเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันมีชีวิตชีวา” หลี่กล่าว โดยความปราถนาของเธอคือการเห็นผู้คนใช้เวลาอยู่ในร้านหนังสือ ไม่ใช่เร่งรีบออกไปทันทีหลังจากซื้อสินค้าเสร็จ
หลี่จัดวางเก้าอี้ 40 ตัว และโต๊ะทรงสี่เหลี่ยมภายในหม่าจื้อ ร้านหนังสือขนาด 200 ตารางเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการอ่านหนังสือและใช้งานคอมพิวเตอร์ พร้อมตั้งโคมไฟราคาแพงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ถึงสองเท่าเพราะมันมอบแสงที่นุ่มนวลมากกว่าไว้ด้วย
“การซื้อหนังสือไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดที่หม่าจื้อ แต่เป็นการอ่านและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันน่าสนใจ” หลี่กล่าว ทว่าธุรกิจรูปแบบนี้ดูจะเป็นได้เพียงสิ่งเพ้อฝันในคราแรก
ร้านของหลี่ตั้งอยู่บนถนนวงแหวนรอบที่ 2 ทางตะวันออกของตัวเมืองปักกิ่ง ทำให้ค่าเช่าแพงหูฉี่ รายได้ของเธอแทบไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่าย หลี่จึงตัดสินใจจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หม่าจื้อมากกว่า 270 รายการตลอดไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการแสดง การฉายภาพยนตร์ และงานสัมนาหนังสือ โดยรายได้เหล่านี้เองที่ช่วยพยุงให้หม่าจื้อสามารถดำเนินธุรกิจต่อไป

ร้านหนังสือแบบมีหน้าร้านหลายแห่งย่านใจกลางเมืองมักเผชิญสารพัดความท้าทาย ทั้งจากค่าใช้จ่ายสูงลิ่วและคู่แข่งร้านหนังสือออนไลน์ที่กำลังเฟื่องฟู ทำให้เหลือร้านหนังสือแบบมีหน้าร้านเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถเปิดบริการบริเวณใจกลางเมืองได้
เซว์หงเฟิง รองผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ เขตตงเฉิงของปักกิ่ง กล่าวว่าตงเฉิงออกหลายนโยบายเมื่อไม่นานนี้ อาทิ ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการและความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อสนับสนุนร้านหนังสือแบบมีหน้าร้านและบรรเทาปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ อีกทั้งส่งเสริมให้ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ว่าง อาทิ โรงงานเก่า หันมาเปิดร้านหนังสือด้วย
ขณะเดียวกันร้านหนังสือที่มีบทบาททางสังคมเชิงบวก สร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมอันดี และได้รับความพึงพอใจจากลูกค้า มีโอกาสคว้าเงินรางวัล มูลค่าสูงถึง 1 ล้านหยวน (ประมาณ 5 ล้านบาท) จากทางการ โดยนโยบายดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มเจ้าของร้านหนังสือ
“เราดีใจที่รู้ว่านโยบายใหม่ไม่เพียงมอบเงินอุดหนุนค่าเช่า แต่ยังจัดสรรสถานที่ที่ดีขึ้นสำหรับร้านหนังสือด้วย ขั้นตอนการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมของร้านหนังสือจะคล่องตัวขึ้นในไม่ช้า ซึ่งหมายความว่าเราจะสามารถทุ่มเทเวลากับการวางแผนสร้างสรรค์และการบริการที่ดีขึ้นได้” หลี่กล่าว
จากตัวอย่างในจีน ชี้ให้เห็นว่าร้านหนังสือเล็ก ๆ จะอยู่ได้ ไม่เพียงแค่การดิ้นรนของเจ้าของร้าน เพื่อหารายได้ทุกทางมาจุนเจือ แต่หน่วยงานรัฐกลับต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อพยุงร้านหนังสือให้อยู่ได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ “วิธีคิด” ต่อร้านหนังสือ ต้องมองไปให้พ้นจากเรื่องรายได้ แต่มองถึงบทบาททางสังคมของร้านหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่อง “จับต้องและอธิบายได้ยาก” ซึ่งอาจจะเป็นความหวังเดียวในการต่อลมหายใจให้กับร้านหนังสือ