ฟาวิพิราเวียร์

รู้จัก “ฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิด-19 รับสถานการณ์ระบาดหนัก

ฟาวิพิราเวียร์ กลับมาคุ้นหูคนไทยอีกครั้ง เมื่อเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา กระทรวงสาธารณสุข กางสต็อกยารักษาโควิด 19 ยืนยันยังมีเพียงพอ โดยจัดหายาฟาวิพิราเวียร์อีก 16 ล้านเม็ดภายใน ก.ค.นี้ และองค์การเภสัชกรรม สามารถวิจัยและพัมนาสำเร็จ ใช้ชื่อว่า “ฟาเวียร์” พร้อมจำหน่ายราคาถูก

นายแพทย์วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน บอกว่าขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์ 4 ล้านเม็ดและยาเรมดิซิเวียร์ 1,613 ไวอัล ถือว่ามีเพียงพอสนับสนุนให้กับพื้นที่ตามปริมาณการใช้จริง  และภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะมียาฟาวิพิราเวียร์ทยอยเข้ามาอีก 16 ล้านเม็ด ซึ่งการส่งมอบยังเป็นไปตามแผน ถือว่าเพียงพอกับสถานการณ์การระบาดในขณะนี้ แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงสามารถจัดหาเพิ่มเติมได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประสานผู้ผลิตในต่างประเทศไว้แล้ว

ฟาวิพิราเวียร์

ฟาวิพิราเวียร์ ภายใต้ชื่อ ฟาเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) ขององค์การเภสัชกรรม ที่วิจัย พัฒนาและผลิตเอง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ต้นสิงหาคมนี้เริ่มกระจายเข้าระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด-19  โดยระยะแรกผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 ล้านเม็ด และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า  ยาฟาเวียร์ (200มิลลิกรัมต่อเม็ด) มีชื่อสามัญทางยา คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) โดยยาฟาเวียร์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสามัญรายแรกของประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานสากล จะเริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยได้ใช้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้

ฟาวิพิราเวียร์

ในระยะแรกผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 2 ล้านเม็ด ที่โรงงานขององค์การฯที่ถนนพระราม 6 และจะขยายกำลังการผลิตไปยังโรงงานผลิตยาที่ คลอง10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การผลิตยาดังกล่าวขององค์การฯครั้งนี้ ทำให้ราคายาถูกลงกว่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ

“ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นรายการยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวทางการรักษาของประเทศไทย  ซึ่งเดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด  ปัจจุบันสถานการณ์การการระบาดโรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ถึงประมาณวันละ 3 แสนเม็ดหรือเดือนละประมาณ 9 ล้านเม็ด ซึ่งองค์การฯได้มีการจัดหาเข้ามาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และองค์การฯจะเริ่มผลิตยาฟาเวียร์คู่ขนานไปด้วย  โดยองค์การฯจะได้มีการบริหารจัดการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ให้เพียงพอและสอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงของการระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศ

ฟาวิพิราเวียร์

องค์การฯได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาและผลิตยาฟาเวียร์ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ มาใช้ในการพัฒนาสูตรตำรับ จนขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ยาดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาความคงตัวและประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) ซึ่งเป็นการศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบแล้ว โดยผลการศึกษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลและผลการศึกษาชีวสมมูลเทียบเท่ากับยาต้นแบบ

“องค์การฯต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมทรัพย์สินทางปัญญา ภาคประชาสังคม และอีกหลายหน่วยงาน ที่ร่วมกันผลักดันให้การดำเนินการในครั้งนี้สำเร็จ จนส่งผลให้องค์การฯสามารถที่ผลิตยารักษาโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที  ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าว

สำหรับยา ฟาวิพิราเวียร์ ผศ. นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่าฟาวิพิราเวียร์ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ได้กับโรคติดเชื้อไวรัสอื่น ๆเช่น ชิคุนกุนยา และ โควิด-19

การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโควิด-19 

แพทย์ใช้ฟาวิพิราเวียร์กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่รับไว้ในสถานพยาบาล โดยกรมควบคุมโรคระบุให้ใช้กับผู้ที่เริ่มมีอาการของโรค ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่ยังไม่มีอาการ หรือใช้เพื่อป้องกันโรค

การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ต้องรอจนมีอาการแล้วเท่านั้นหรือ

เป็นดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเริ่มใช้ยานี้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการบางรายที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง เช่น อายุมาก เป็นเบาหวาน หรืออ้วน เป็นต้น หรือแม้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงของโรคมากขึ้นก็สามารถใช้ยานี้ได้ในทันที

ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาสำคัญที่ใช้ต้านไวรัสโคโรนา 2019 จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้อย่างสมเหตุผล คือ ใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้นหากนำมาใช้เกินจำเป็นจะส่งเสริมการดื้อยาของเชื้อไวรัส และทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

บทความเรื่อง “การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 1 : ฟาวิพิราเวียร์ ” ของหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และข้อมูลจากกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ค้นพบโดยบริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะเคมิคอล ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี 2557-2559 และในการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อุบัติใหม่ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว

สำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ประเทศจีนได้ให้การรับรองว่ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพต่อต้านโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563

ฟาวิพิราเวียร์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแหลงภายในเซลล์เป็นสารฟาวิพิราเวียร์ อาร์ทีพี ทั้งนี้ ยาชนิดนี้มีผลป้องกันการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส แต่ไม่มีผลยับยั้งการสังเคราะห์ RNA หรือ DNA ของเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อต้นเดือน เม.ย. สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เพิ่งจะเริ่มโครงการทดสอบทางคลินิกในการใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยที่พักฟื้นจากโควิด-19 และสถานรักษาตัวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล โดยโครงการได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครผู้ป่วยโควิดเข้าร่วมการรักษาจากทางบ้าน

ฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาชนิดที่ 6 ที่เข้าสู่โครงการทดลองรักษาทางคลินิกโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยของสหราชอาณาจักร ภายหลังนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและคณะกรรมการโครงการที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจนำตัวยาชนิดนี้เข้าสู่การทดลองรักษา

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:

วัคซีนซิโนฟาร์ม เปิดจอง 18 ก.ค. เข็มละไม่เกิน 888 บาท

โควิดวันนี้ 15 ก.ค. ติดเชื้อ 9,186 ราย เสียชีวิต 98 ราย

สลับวัคซีนโควิด-19 ยังไม่ชัวร์ อนามัยโลกเตือนรอผลศึกษา

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน