การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงบางหัวเมือง กำลังจะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยเฉพาะแผนการรับมือการแพร่ระบาด
ความวิตกเริ่มมีมากขึ้น เมื่อพญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ว่าพบสายพันธุ์เดลต้าเมื่อเดือนมิถุนายน จึงคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 เท่า ใน 2 สัปดาห์ ซึ่งในสัปดาห์หน้า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ อาจจะพุ่งขึ้นไปถึง 10,000 ราย จึงขอให้ทุกคนเน้นย้ำมาตรการส่วนตัว ลดการเคลื่อนย้าย เฝ้าระวังผู้สูงอายุ และเน้นย้ำการฉีดวัคซีน
การยอมรับอย่างเป็นทางการครั้งแรกของศบค.ถึงความน่ากลัวจากสายพันธุ์เดลตา ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านั้นในหลายประเทศก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน เพียงแต่ของไทยมีการระบาดจากสายพันธุ์เดลตาช้ากว่าประเทศอื่น
ล่าสุด ผู้ว่าการรัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย ได้สั่งล็อกดาวน์ในช่วงวันสุดสัปดาห์ เนื่องจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และก่อนหน้านั้นเมืองซิดนีย์ เมืองหลวงก็สั่งล็อกดาวน์กันไปแล้ว
นางแกลดีส์ เบเรจิเคลียน ผู้ว่าการรัฐ บอกว่า “การแพร่ระบาดของเดลตาเป็นผู้เปลี่ยนเกม แพร่ระบาดง่ายมากและติเดชื้อรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นที่เราเคยเจอกันมา”
ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่เผชิญกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา หลายรัฐในสหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และผู้ป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น ขณะสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศ
สหรัฐเริ่มระบาดหนักในหลายรัฐ
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่ามีการตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นในรัฐที่มีอัตราการฉีดวัคซีนลดลง โดยพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำเริ่มมีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาพุ่งสูงขึ้น
“ทุกครั้งที่มีการระบาดครั้งใหญ่ในวงกว้าง มันจะกลายเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์”
ทั้งนี้ ผู้ป่วยใหม่ในประเทศร้อยละ 25 มีส่วนเชื่อมโยงกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา เพิ่มขึ้นจากต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการป้องกันเชื้อไวรัส สายพันธุ์เดลตาที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนแก่ประชากรมากกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด
ในเดือนพฤษภาคม นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสแก่ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันร้อยละ 70 ภายในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันชาติสหรัฐฯ (Independence Day) แต่มีเพียง 18 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เท่านั้นที่บรรลุเป้าหมาย
สหรัฐฯ มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดในช่วงกลางเดือนเมษายนด้วยอัตราการฉีดวัคซีนเฉลี่ย 7 วัน อยู่ที่ราว 3.4 ล้านโดสต่อวัน จากนั้นอัตราการฉีดวัคซีนชะลอตัวลง โดยประชากรสหรัฐฯราวร้อยละ 47.5 ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ขณะประชากรร้อยละ 55 ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดส
คณะผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูง จะทำให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ต่อไป และหากติดอยู่ในกลุ่มประชากรที่ไม่ได้รับวัคซีนก็อาจกลายพันธุ์เป็นรูปแบบที่ติดต่อได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ทน-แบ่งตัวเร็ว” คือ คุณสมบัติของเดลตา
ความร้ายกาจของสายพันธุ์เดลตา หลายคนอาจจะไม่เชื่อ แต่รายงานการศึกษาที่เก็บข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ 100 คนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์การแพทย์ท้องถิ่น 3 แห่งของดินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสายพันธุ์เดลตา ระบุว่าสายพันธุ์เดลตาทนต่อต่อแอนติบอดีที่ผลิตจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดีกว่าสายพันธุ์ถึง 8 เท่า
อินเดียร่วมจัดทำการศึกษากับคณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันภูมิคุ้มกันบำบัดและโรคติดต่อแห่งเคมบริดจ์ “การอุบัติของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์บี.1.617.2 หรือเดลตา และการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน : การศึกษาร่วม” (Sars-Cov-2 B.1.617.2 Deltavariant Emergence and Vaccine Breakthrough: Collaborative Study) พบสายพันธุ์เดลตามีศักยภาพแพร่เชื้อสูงกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ มาก
เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา นอกจากจะเป็นสายพันธุ์หลักที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนด้วยปริมาณเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจที่มากกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ แล้ว เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ยังก่อให้เกิดการแพร่ระบาดสูงขึ้นในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนครบโดส เมื่อเทียบกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์บี.1.17 หรืออัลฟา และบี.1.617.1 หรือคัปปา
ที่สำคัญ สายพันธุ์เดลตามีประสิทธิภาพเพิ่มจำนวนหรือแบ่งตัวเองสูงกว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ติดเชื้อได้เร็วพบในอังกฤษ
เดลตาเริ่มระบาดหนักในยุโรป
เมื่อต้นเดือนนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวเตือนประเทศในแถบยุโรปเช่นเดียวกันว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา อาจระบาดแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟาอย่างรวดเร็วผ่านการแพร่ระบาดซ้ำ ๆ หลายครั้ง และทำให้ยอดผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
WHO ระบุว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จะเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดในภูมิภาคยุโรปภายในเดือนสิงหาคม พร้อมเตือนว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา มาจากยอดการฉีดวัคซีนลดลง และเมื่อคนพบปะกันมากขึ้น จะทำให้ยอดผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลและยอดการเสียชีวิตพุ่งสูงอีกระลอก
หลายคนคาดว่าในปีนี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวในหลายด้าน เนื่องจากเริ่มมีการผลิตวัคซีนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน คนเริ่มรู้สึกว่าไม่แน่นอนเสียแล้ว แม้แต่คนในแวดวงการแพทย์ ทำให้สายพันธุ์เดลตากำลังจะ “เปลี่ยนเกม” ที่คิดกันมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
เพราะไวรัส ก็เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด และวิธีที่ใช้ ก็คือ การแพร่ระบาดให้เร็วและกว้างขวางที่สุด
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
กางแผนที่โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา กทม.พบแล้ว 52% เพิ่มทุกสัปดาห์
โควิด-19 ในกทม. 70% สายพันธุ์เดลตา “มีโอกาสติดเชื้อตลอดเวลา”
สายพันธุ์เดลตาติดภายใน 5-10 วินาที แค่เดินเฉียดก็ติดเชื้อ
สายพันธุ์เดลตา พาโลกเข้าสู่โควิดรอบที่ 4 ไทย ‘เริ่มเอาไม่อยู่’