โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา แรงไม่หยุด จนวิตกกังวลจะรับมือไม่อยู่ แต่อนามัยโลกและอียู เผยข่าวดี แม้ว่าภายในเดือนส.ค.นี้ จะเป็นสายพันธุ์หลักในยุโรป แต่หากฉีดวัคซีนที่มีอยู่ 2 โดสป้องกันได้ เตือนอย่าล่าช้า เพราะโดสเดียวป้องกันไม่ได้
นายฮันส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่าการพบปะคนต่างครัวเรือนการเดินทางการรวมตัวกันและการผ่อนปรนข้อจำกัดทางสังคมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ยอดผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในยุโรปเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 สัปดาห์
“เมื่อสัปดาห์ก่อน ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ขณะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในภูมิภาคยุโรปที่ยังมีประชาชนไม่ได้รับวัคซีนอีกหลายล้านคน แม้ประเทศสมาชิกจะพยายามอย่างสุดความสามารถ” คลูเกอแถลงข่าวทางออนไลน์ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก
“เชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา อาจระบาดแซงหน้าสายพันธุ์อัลฟาอย่างรวดเร็วผ่านการแพร่ระบาดซ้ำๆ หลายครั้ง และทำให้ยอดผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลและผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแล้ว”
คลูเกอคาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา จะเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดในภูมิภาคยุโรปภายในเดือนสิงหาคม พร้อมเตือนว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์ ยอดการฉีดวัคซีนที่ลดต่ำ และการที่ประชาชนต่างครัวเรือนพบปะกันมากขึ้น จะทำให้ยอดผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลและยอดการเสียชีวิตพุ่งสูงอีกระลอกก่อนฤดูใบไม้ร่วง
คลูเกอเรียกร้องประชาชนในภูมิภาค “มีระเบียบวินัยกันต่อไป” และฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อมีโอกาส เพื่อยับยั้งยอดผู้ป่วยที่คาดว่าจะพุ่งสูง
“วัคซีนมีประสิทธิภาพต้านเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา แต่คุณต้องฉีด 2 โดส ไม่ใช่แค่โดสเดียว ความล่าช้าในการฉีดวัคซีนจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มและส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ยิ่งเราฉีดวัคซีนช้า ยิ่งมีเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์เกิดขึ้นเพิ่ม”
คลูเกอแสดงความเสียใจต่อความแตกต่างที่ชัดเจนด้านความเท่าเทียมทางวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนในยุโรป พร้อมระบุว่าอัตราความครอบคลุมทางวัคซีนของภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 24 เท่านั้นและนั่นเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้ ทั้งยังห่างไกลจากคำแนะนำให้อัตราครอบคลุมอยู่ที่ร้อยละ 80 ของประชากรวัยผู้ใหญ่”
“การระบาดใหญ่จะไม่สิ้นสุดลงด้วยตัวเลขแบบนี้ และหากมีพลเมืองหรือผู้ออกนโยบายคนใดคิดว่ามันจะจบลงได้ พวกเขาคิดผิด”
เยนส์ ชปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนีคาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (Delta) จะกลายเป็นเชื้อไวรัสฯสายพันธุ์หลักในเยอรมนีก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคมโดยมีสัดส่วนผู้ป่วยเพิ่มเป็นร้อยละ 80
สถาบันโรเบิร์ต ค็อก (RKI) หน่วยงานกลางด้านการควบคุมและป้องกันโรคของประเทศ กล่าวว่าสัดส่วนผู้ป่วยใหม่ที่ติดเชื้อไวรัสฯ สายพันธุ์เดลตา เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และอยู่ที่ร้อยละ 37 ในปัจจุบัน
ด้านองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ร้องขอกลุ่มผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตรวจสอบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสฯชนิดกลายพันธุ์หรือไม่
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 4 ตัว ได้รับอนุมัติใช้งานกรณีฉุกเฉินในสหภาพยุโรป ได้แก่ ไบออนเทค/ไฟเซอร์ (BioNTech/Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และจอห์นสันแอนด์จอหน์สัน (Johnson&Johnson)
จากข้อมูลจากการใช้งานจริงบ่งชี้ว่าวัคซีนสองโดสมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตา ขณะข้อมูลจากห้องปฏิบัติการเผยว่าแอนติบอดีจากวัคซีนสามารถป้องกันสายพันธุ์ดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ องค์การฯ ยังศึกษาว่าการฉีดวัคซีนสองโดสจะเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคโควิด-19 หรือจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเติม โดยคาวาเลอรีระบุว่า “เรายังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อรักษาระดับการป้องกันเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่”
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
สายพันธุ์เดลตา พาโลกเข้าสู่โควิดรอบที่ 4 ไทย ‘เริ่มเอาไม่อยู่’
เปรียบเทียบวัคซีนโควิด 5 ยี่ห้อ ข้อดี-ข้อด้อยและเมื่อไหร่จะมา?