คุณอยู่กลุ่มไหน

คุณอยู่กลุ่มไหน? เสาวรส หรือ กล้วยหอม

คุณอยู่กลุ่มไหน? คุณพวกไหน? เป็นสลิ่มหรือเปล่า? เป็นคำถามที่มักได้ยินมานานหลายปี แต่เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร เมื่อคนไทยเป็น “เสรีนิยม”มากขึ้นในรอบ 10 ปี  

สังคมไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่าน เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเกิดความขัดแย้งรุนแรง ยืดเยื้อยาวนาน แต่การศึกษาและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวกลับมีน้อย

เรามีนักพูด นักวิพากษ์วิจารณ์ แต่มีคนที่ลงมือศึกษาอย่างจริงจังไม่มากนัก รวมถึงบรรดาสำนักโพล ที่ชอบสำรวจแบบ “โหนกระส” กลายเป็นสำนักโพล “กำมะลอ” เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง ทำให้การทำความเข้าใจเป็นเรื่องยากยิ่ง

แต่ล่าสุด มี โครงการวิจัยคิดต่าง อย่างมีภูมิ” ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งอาจเป็นโครงการระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อพยายามเข้าใจปรากฏการณ์สังคม (แม้จะมีจุดอ่อนที่ชอบเอาอะไร ๆ แปลงมาเป็นตัวเลขไปเสียหมด แต่ก็ทำไงได้ เพราะเป็นวิธีเดียวที่เวลาพูดถึงปัญหา พอจะมีจุดอ้างอิงกันได้บ้าง)

โครงการนี้ มีการนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปีที่เพิ่งผ่านไป โดยเป็นศึกษาจากการสำรวจโดยใช้ช่องทางออนไลน์ และในระยะเริ่มต้น (Phase I) ซึ่งดำเนินการระหว่างเดือนส.ค.–ก.ย. 2021 ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,016 ราย จากกลุ่มอายุ พื้นที่ อาชีพ และรายได้ที่หลากหลาย

เมื่อพิจารณาการกระจายตัวของกลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจใน Phase I เทียบกับการกระจายตัวของประชากรพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 30–59 ปีเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากรไทย ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และมีอาชีพเป็นข้าราชการและพนักงานเอกชน อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการกระจายตัวของประชากรไทยโดยทั่วไป

ส่วนหนึ่งเพราะแบบสอบถามออนไลน์เข้าถึงคนบางกลุ่มได้ยากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีออนไลน์

นอกจากนี้ เนื่องจากการส่งแบบสำรวจออนไลน์ไม่ได้มีการสำรวจแบบสุ่ม (probability sampling) ทำให้การแปลผลอาจมีข้อพึงระวัง เช่น กลุ่มตัวอย่างที่ได้อาจมีการคัดเลือกตัวเองมาแล้ว (self-selection) โดยอาจมีคนที่สนใจการเมือง หรือมีความเห็นชัดเจนทางการเมืองมากกว่าประชากรจริง ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่จะกล่าวถึงในส่วนต่อไปเป็นผลการศึกษาที่มาจากกลุ่มตัวอย่างนี้เท่านั้น

นับว่าโครงการวิจัยนี้ เริ่มต้นน่ายกย่อง ที่ออกตัวถึง “ข้อจำกัด” ในการศึกษาของตัวเอง ไม่เหมือนการสำรวจอีกมากมาย แทบไม่ได้บอกอะไร เพียงแค่สรุปผลศึกษาเท่านั้น (จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้)

ผลการศึกษาโครงการนี้ นับว่าน่าสนใจตั้งแต่ต้น เมื่อหยิกยกข้อมูล World Values Survey (WVS) ซึ่งเป็นข้อมูลสำรวจที่ดำเนินการสอบถามความคิดเห็นและค่านิยมของคนทั่วโลกทุก ๆ 5 ปี พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนความเชื่อใจกันของคนในสังคมลดลงหนึ่งในสี่ในช่วงเวลาเพียง 10 ปี  และยังพบว่า ทัศนคติและค่านิยมของคนไทยเปลี่ยนแปลงจากความเป็นอนุรักษ์นิยมมาเป็นเสรีนิยมมากขึ้นโดยเฉลี่ยอีกด้วย

ประเด็นน่าสน คือ คณะผู้วิจัยพยายามศึกษาลักษณะความคิดต่างในสังคมไทยเป็นอย่างไร? ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ ได้นิยามของทัศนคติและค่านิยมของคน 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มเสาวรส ซึ่งมีทัศนคติที่สำคัญคือ “คิดใหม่ ให้เท่าเทียม” โดยมักจะให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความหลากหลาย ความเสมอภาค และความเท่าเทียม เป็นต้น

กลุ่มกล้วยหอม ซึ่งมีทัศนคติที่สำคัญคือ “ของเดิมดี มีค่ารักษาไว้” โดยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับค่านิยมหลัก เช่น ประเพณีนิยม ศีลธรรมอันดีงาม ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความมั่นคงในชีวิต และการเคารพผู้อาวุโส เป็นต้น

คณะผู้วิจัยได้ขอให้ผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนที่แสดงค่านิยมตรงกับของตนเองมากที่สุด และใช้ช่วงคะแนนตั้งแต่ 1–6 โดยหากตอบ 1 หมายความว่า ผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีค่านิยมที่สะท้อนไปในทางกลุ่มเสาวรสมากที่สุด ขณะที่หากตอบ 6 หมายความว่า ผู้ตอบแบบสอบถามนั้นมีค่านิยมที่สะท้อนไปทางกลุ่มกล้วยหอมมากที่สุด โดยจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจใน Phase I นี้ พบสัดส่วนของผู้ที่มีทัศนคติและค่านิยมตรงกับเสาวรสมากที่สุด

 

หากพิจารณาภาพตัดขวางในกลุ่มตัวอย่างย่อยทั้งในมิติอายุ พื้นที่ อาชีพ และรายได้ จะพบการกระจายตัวของความคิดต่างที่หลากหลายในเกือบทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี อายุเป็นมิติที่มีการกระจายตัวของความคิดต่างที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่นชัดเจนมากที่สุด โดยกลุ่มคนอายุน้อย (น้อยกว่า 30 ปี) มีทัศนคติและค่านิยมค่อนไปทางเสาวรสมากกว่าร้อยละ 90 และสัดส่วนของกลุ่มทัศนคติและค่านิยมแบบเสาวรสก็ลดลงมาเรื่อย ตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น

คณะผู้วิจัยยังได้วิเคราะห์โดยใช้ logistic regression analysis เพื่อหาความสัมพันธ์ทางสถิติว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ตอบว่าติดตามสื่อแต่ละแห่ง มีความเป็นไปได้ที่จะมีทัศนคติและค่านิยมอยู่ในกลุ่มใด โดยได้ผลการวิเคราะห์มาเรียงลำดับสื่อจากซ้ายไปขวา (ยกตัวอย่างเช่น ซ้ายมือสุดเป็นสื่อที่คนติดตามจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีค่านิยมอยู่ในกลุ่มเสาวรสมากกว่าความเป็นไปได้ที่จะมีค่านิยมอยู่ในกลุ่มกล้วยหอมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ)

ทั้งนี้ สามารถแบ่งสื่อออกเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ สื่อที่กลุ่มเสาวรสติดตามมากกว่ากล้วยหอมอย่างมีนัยสำคัญ สื่อกลาง ๆ และสื่อที่กลุ่มกล้วยหอมติดตามมากกว่าเสาวรสอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่บริโภคสื่อที่เหมือนๆกับคนฝั่งเดียวกันในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะมีความสุดขั้วสูงขึ้นมีความรู้สึกไม่ดีต่อฝั่งตรงข้ามมากขึ้นและอคติของความแตกต่างที่คิดมากกว่าความแตกต่างจริงสูงขึ้น ในทางกลับกัน พบว่าผู้ที่บริโภคสื่อที่หลากหลายกว่าจะมีอคติต่อคนฝั่งตรงข้ามน้อยกว่า

เมื่อถึงตรงนี้ ผู้อ่านอย่าลืมถามตัวเองว่า อยู่กลุ่มไหน?

งานวิจัยชิ้นนี้ของธปท.ที่บอกว่าเป็นงานระยะแรก นับว่ามีประเด็นน่าสนใจหลายประเด็น ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่นี่ โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

5 เมกะเทรนด์ กระทบสังคมรุนแรง หนักสุด’น้ำท่วม’ กทม.จากโลกร้อน

‘สัปปายะสภาสถาน’ สถาปัตยกรรมอำนาจนิยม

สภาองค์กรของผู้บริโภค พลังใหม่สร้างสังคมเป็นธรรม

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน