บ้านคนบ้านช้าง

“บ้านคนบ้านช้าง” ติด 1 ใน 5 นิทรรศการน่าสนใจที่สุดที่เวนิส

“บ้านคนบ้านช้าง” Thai Pavilion ในงานนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติครั้งที่ 17 หรือ Biennale Architettura 2021 ที่เมืองเวนิส ได้รับการจัดอันดับให้เป็นนิทรรศการที่น่าสนใจที่สุด ติดอันดับ 1 ใน 5 โดยทางเว็บไซต์ dailyartmagazine.com

งานนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติครั้งที่ 17 หรือ Biennale Architettura 2021 ที่เมืองเวนิส เป็นนิทรรศการนานาชาติที่จัดทุก ๆ 2 ปี แต่จากสถานการณ์ระบาดของไวรัส covid -19 ทำให้ต้องเลื่อนจัดงานจากปีที่แล้วมาจัดในปีนี้  เริ่มตั้งแต่ 21 พ.ค.ไปจนถึงวันที่ 21 พ.ย. 2021  โดยมีหัวข้อหลักของการจัดงานนิทรรศการ คือ “ How will we live together ? ” ( เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร? ) 

Thai Pavilion  ที่เข้าร่วมจัดนิทรรศการของงานปีนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม และสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ รศ. ดร. อภิรดี เกษมศุข เป็นผู้นำทีมภัณฑารักษ์ไทย และศิลปินผู้ออกแบบพื้นที่นิทรรศการ โดยมีแนวความคิดในการออกแบบ ที่ตีความ ต่อยอดมาจากการตั้งคำถาม ถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์

ทีมได้พิจารณางานวิจัย “ บ้านคนบ้านช้าง ” ของ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา ซึ่งได้นำแรงบันดาลใจ จากวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อย ที่อยู่ร่วมกับช้าง มาเนิ่นนานหลายร้อยปี มาออกแบบ Thai Pavilion เพื่อสื่อถึงการอยู่ร่วมกันของคนและสัตว์อย่างยั่งยืน

ในตอนแรกทางคณะผู้ทำงาน ตั้งใจจะนำผลงาน “ บ้านคนบ้านช้าง ” ซึ่งเป็นเรื่องราวของชาวกูยและช้าง เดินทางไปร่วมบอกเล่าวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันของพวกเขาไปจัดแสดงนิทรรศการที่เวนิส แต่ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ทีมออกแบบนิทรรศการ ต้องมีการปรับการนำเสนอชิ้นงานที่นำไปแสดง โดยปรับเปลี่ยน วัสดุ ลดทอนโครงสร้างให้แก่นของงานได้ถูกนำเสนอ พร้อมฉายวีดีโอเล่าเรื่องราวบนตัวชิ้นงาน ตลอดระยะเวลาของการจัดแสดงนิทรรศการ เป็นเวลา 6 เดือน

ในขณะที่ตัวงานชิ้นเดิมของ “ บ้านคนบ้านช้าง ” ได้ถูกนำไปติดตั้งเป็นนิทรรศการถาวรกลางแจ้ง แสดงคู่ขนานกับงานหลัก ณ บริเวณวัดป่าอาเจียง จังหวัดสุรินทร์แทน และเพื่อเป็นศาลากลางแจ้ง ให้ชาวอำเภอท่าตูมได้ใช้งาน โครงสร้าง Pavilion ด้วย

ในการออกแบบ ” บ้านคนบ้านช้าง ” อาจารย์บุญเสริม ผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบ นำเสอนวิถีชีวิตที่อยู่กันอย่างกลมกลืนของชาวกูยและช้างในหมู่บ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่อยู่เคียงข้างภายใต้ชายคาเดียวกันมาหลายยุคหลายสมัย ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่

แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย คือ ความเชื่อ และสายสัมพันธ์ของครอบครัวของคนและช้าง โดยออกแบบโครงสร้างไม้มุงสังกะสี เป็นภาพสะท้อนของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่ดูเรียบง่ายของชุมชนชาวกูย โดยมีเรือนเตี้ย เป็นตัวแทนของบ้านคน และเสาสูงเป็นตัวแทนของบ้านช้าง โครงสร้างทั้งสองส่วน ผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ในขณะที่โครงสร้างของบ้านคนซึ่งอยู่ด้านล่างทำหน้าที่ค้ำยันเป็นรากฐานที่มั่นคง บ้านช้างซึ่งอยู่ด้านบนก็มีหลังคาสร้างร่มเงาให้เกิดความร่มรื่น เป็นการนำเสนอวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของชาวกูยและช้าง ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ ผ่านการอุปมาอุปมัย ไม่ใช่แค่ในแง่ของวิถีชีวิต แต่ยังเป็นเรื่องของ โครงสร้างทางศิลปะ และสถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจด้วย

ที่มา: สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน