ปูเป้

‘ปูเป้’ เชาวรัตน์ ยงจิระนนท์ คุณครูผู้ประกาศข่าว

คนที่ติดตามข่าวภาคภาษาอังกฤษ อาจคุ้นหน้าคุ้นตา ปูเป้ – เชาวรัตน์ ยงจิระนนท์ จากการเป็นผู้ประกาศข่าว และผู้สื่อข่าว สถานีโทรทัศน์ Thai-ASEAN News Network (TAN) ในเครือสถานีโทรทัศน์ในเครือ ASTV และ กรุงเทพธุรกิจทีวี เมื่อหลายปีก่อน

ในช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจโทรทัศน์ คนข่าวพากันปรับตัวตอบรับโลกข่าวสารที่เปลี่ยนไปแบบไม่รู้จุดสิ้นสุด หลายคนหันหลังให้วิชาชีพข่าว สร้างอาชีพใหม่ เปิดร้านอาหาร ขายของออนไลน์ หรือแม้แต่เป็นเกษตรกร อีกจำนวนมาก เลือกต่อสู้บนพื้นฐานความชำนาญที่มีอยู่ ปูเป้เป็นหนึ่งในกลุ่มหลัง แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเธอมีประสบการณ์งานสอนภาษาอังกฤษ  ที่สอนมาแล้วตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย

วันนี้ ปูเป้เป็นฟรีแลนซ์ ที่นอกจากเป็นผู้สื่อข่าวให้เว็บไซต์ Techsauce และเป็นผู้ประกาศข่าวที่ Radio Thailand แล้ว อีกงานหลักคือการเป็น “ครูสอนภาษาอังกฤษ” และด้วยประสบการณ์ที่แตกต่าง ทำให้การเป็นครูของเธอไม่เหมือนครูคนอื่นๆ

“เป็นการผสมทุกอย่างที่เรียนมา เป้าหมายคืออยากให้ทุกคนใช้ภาษาอังกฤษได้” คือความตั้งใจ

ในโลกภาษาอังกฤษ

“ที่จริงภาษาแรกคือภาษาไทย แต่ตอน 6 ขวบ ครอบครัวย้ายไปดูไบ ยุคนั้นไม่มีแนวคิดเรื่องการเรียนสองภาษา ผู้ปกครองคิดว่าให้ลูกได้อังกฤษไว้ก่อน พี่น้องสองคนไม่พูดไทยเลย ช่วงแรกไปก็ช็อค เพราะเป็นคนไทยคนเดียวที่นั่น กว่าจะได้ภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Subtractive lingualism คือภาษาไทยหายไปเลย กลายเป็นเหมือนภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกของเรา”

เมื่อกลับมาใช้ชีวิตยังประเทศบ้านเกิด ทุกคนในครอบครัวคิดว่าอย่างไรสองพี่น้องก็คงไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ จึงให้เข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติ ก่อนจะเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการโฆษณา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ

การมีโอกาสได้ไปฝึกงานข่าวที่ BBC ประเทศสิงคโปร์ เพียงเพราะคิดว่างานด้านโฆษณาอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นความสนใจ กลายเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่วิชาชีพด้านการข่าวในเวลาต่อมา

“เรียนจบไม่รู้จะทำอะไร แค่ไม่อยากทำโฆษณา เป็นข้อเสียหนึ่งของการเรียนในไทย โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่มีสตางค์ คือเราไม่มี gap year ที่จะได้ค้นหาว่าเราสนใจอะไร อยากทำอะไร ไม่มีคนไกด์ แค่คิดว่าเรียนไปก่อน พอเรียนจบก็ทำงานก่อน เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยครูที่โรงเรียนนานาชาติ สอนเด็ก ป.1”

จนถึงวันนี้ ปูเป้กับน้องชายก็ยังคงใช้ชีวิต และทำงานในประเทศไทย ภาษากลายเป็นเรื่องใหญ่ให้เธอต้องฟันฝ่าตลอดหลายปีของการทำงาน

ปูเป้

เผชิญคลื่มลมในโลกงานข่าว

หลังจากเป็นผู้ช่วยครูอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อเริ่มรู้สึกว่านี่น่าจะ “ไม่ใช่ทาง” เธอจึงเริ่มมองหางานใหม่

“ข้อเสียหนึ่งที่คิดว่าเป็นผลจากระบบการศึกษา คือเราพยายามเรียนเก่ง ทำคะแนนดี ๆ แต่โลกข้างนอกไม่ใช่ห้องเรียน เราต้องฝึกที่จะลงมือทำ ไม่กลัวที่จะล้มเหลว และเอาแต่ทำคะแนน โดยไม่คิดว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร จะทำอะไรรู้สึกกลัวไปหมด”

แม้จะรู้สึกกลัวที่จะก้าวไปข้างหน้า แต่เธอก็ไม่ได้หยุดตัวเอง ปูเป้ติดต่อขอเข้าสัมภาษณ์งานด้วยประสบการณ์ฝึกงานจากประเทศสิงโปร์ ในที่สุด เธอได้เข้าทำงานที่ Thai-ASEAN News Network (TAN) ซึ่งขณะนั้นมี แอ้ม สโรชา พรอุดมศักดิ์ เป็นผู้ดูแลงานข่าว

6 ปีที่สั่งสมประสบการณ์ทำงาน ได้เดินทางทำข่าวไปทั่วประเทศ เธอรู้สึกว่างานข่าวคือสิ่งที่ใช่

“ตอนนั้นงานดีมาก เหมาะกับเรา ตั้งแต่เด็กชอบพูด ชอบเล่าเรื่อง สนุก ได้เป็นนักข่าวในบรรยากาศที่ไม่ใช่ไทยล้วน ๆ ได้เรียนรู้จากพี่ ๆ นักข่าวเยอะมาก เพราะเราก็ไม่ได้จบมาสายนี้โดยตรง”

ปูเป้

 

การมาถึงของทีวีดิจิทัล เป็นจุดที่ชวนให้ปูเป้ทบทวนเส้นทางการทำงานอีกครั้ง ก่อนตัดสินใจชวนกันกับน้องชายไปเสนอรายการที่กรุงเทพธุรกิจทีวี และได้รับชักชวนให้สมัครเป็นผู้ประกาศข่าวภาษาไทย

“พอถูกชวน ฮ๊า ชวนเป้เหรอ ภาษาไทยเป็นแบบนี้นะ ตลกตรงที่แทนที่จะไปเอพีหรือรอยเตอร์ แต่เราเลือกองค์กรไทย ต้องใช้ภาษาไทย อยากท้าทายตัวเอง ในการทำงานที่ใช้ภาษาไทยทั้งหมด โชคดีที่ทุกคนใจดีและให้โอกาส เราก็เริ่มมั่นใจ ตัดสินใจแล้วก็รู้สึกว่า ..ฉันทำอะไรไป (หัวเราะ) ถามตัวเองตลอด ฉันทำถูกไหม แต่ก็คิดว่า เราเป็นคนไทย อยู่เมืองไทย ใช้ภาษาไทย เรียนรู้วัฒนธรรมแบบไทย”

ในจังหวะเดียวกันนี้ เธอตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโท การสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของงานข่าวที่ดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

สื่อเปลี่ยน คนทำสื่อ ต้องยืนเองให้ได้

กลางกระแส Digital disruption ในโลกงานข่าว ถึงจุดหนึ่ง ปูเป้บอกกับตัวเองว่า เธอจะเป็นฟรีแลนซ์ ด้านหนึ่งคิดว่าเป็นการ “ตั้งหลัก” ในขณะที่สื่อกำลังเปลี่ยน

“คนที่เป็นต้นแบบคือน้องชาย เขาเคยทำงานประจำแล้วลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ในงานเทรนนิ่ง ทุกคนในครอบครัวเป็นห่วงมาก เขาจะบอกว่า ‘ดีสิ ออกมาตอนอายุน้อยดีกว่าอายุมาก ถ้าเฟลก็กลับตัวได้’ ทำไประยะหนึ่ง งานก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ  ตอนที่เป้ออกมา พอมีคนถามว่าเป็นฟรีแลนซ์เหรอ จะตอบแบบมั่นใจ พูดเหมือนน้องชายเลย ‘ดีสิ ออกมาตอนอายุน้อยดีกว่าอายุมาก ถ้าเฟลก็กลับตัวได้’ พอพูดจบ ..เริ่มไม่แน่ใจ (หัวเราะ)”

เธอใช้เวลาระยะหนึ่ง เพื่อเรียนรู้การทำงานสไตล์ฟรีแลนซ์

ปูเป้

 

“ช่วงแรกเหมือนที่ตั้งใจไว้ นั่งคิดก่อน จะทำอะไรดี น้องชายเดินมา เฮ้ย นั่งทำอะไร ไปหางานสิ ฟรีแลนซ์อยู่เฉยๆ งานไม่มาหานะ เป็นฟรีแลนซ์ไม่มีเงินเดือน เธอต้องหารายได้ ต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องแอ็กทีฟ  ตอนแรกเป้จะแนวคุณหนู น่ารัก ๆ อุ๊ย เป็นฟรีแลนซ์ค่ะ อ่านข่าวที่นี่ค่ะ ก็โอเคค่ะ ..ปรากฏว่า เงินเริ่มหมด (หัวเราะ) Oh my god”

เธอเริ่มเรียนรู้ว่า การอยู่รอดแบบฟรีแลนซ์ คือการรับงานหลายทาง พร้อมกับการสร้างแบรนด์ของตัวเองให้ชัด ว่าอะไรคือความสามารถที่แตกต่างจากตัวเลือกอื่นในตลาดงาน และคิดไว้เสมอว่า ทุกงานในวันนี้ หมายถึงความไม่แน่นอนในวันข้างหน้า

คุณครูผู้ประกาศ ถนัดงานหน้าจอมาก ๆ

นอกจากงานด้านการสื่อสารด้วยประสบการณ์งานข่าว อีกปีกสำคัญที่เธอใช้ประคองตัวคืองานสอนภาษาอังกฤษ ทั้งการเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นติวเตอร์สำหรับเด็ก ๆ และคนทั่วไป

“ถ้าถามว่าทำงานอะไร ตอบยากมาก เพราะทำหลายอย่าง เป็นผู้ประกาศ เป็นนักข่าว เป็นพิธีกร เป็นครู ผสมทุกอย่างที่ได้เรียนรู้มา”

และนี่คือสิ่งที่ทำให้เธอแตกต่าง

“เวลาสอนจะสอนด้วยวิธีแบบจัดรายการ ทำทุกอย่างให้กระชับ เข้าใจง่าย ยิ่งต้องมาสอนออนไลน์ กลายเป็นสิ่งที่เราถนัด เคยทำงานทีวีจะรู้ว่าต้องมองกล้อง ต้องจัดการเวลาอย่างไร แล้วเป้สมาธิสั้น จะรู้ว่าถ้าสอนผ่านหน้าจอ ต้อง interactive ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนเรียน เด็กจะสนใจเมื่อได้มีส่วนร่วม สอนเฉย ๆ ไม่มีใครนั่งฟังได้เป็นชั่วโมง หลับแน่ เป้หลับแน่ ๆ”

ฟรีแลนซ์

 

ปูเป้เชื่อว่าแนวทางการเรียนการสอนยุคใหม่จะไม่เหมือนเดิม ครูจะไม่ใช่คนนำนักเรียนอีกต่อไป แต่จะเป็นการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน การออกแบบวิธีการเพื่อให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วม จึงตอบโจทย์นี้ รวมทั้งโจทย์การเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้มากที่สุด

ถามถึงเทคนิคการเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง

“เราทุกคนมีจุดปิ๊งของตัวเอง ฝืนไม่ได้ เรียนที่โรงเรียนได้แค่ 50:50 เราต้องหาแรงบันดาลใจที่จะเรียน แล้วแรงบันดาลใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ของเป้ที่เรียนภาษาไทยเพราะอยากคุยกับเพื่อน แล้วพอเราทำงานก็ต้องดูข่าว ดูสารคดีเป็นภาษาไทย ต้องหาสื่อที่เราชอบ แล้วก็เรียนรู้จากช่องทางนั้น”

ป็นคำแนะนำจากประสบการณ์ตรงของครูปูเป้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

Work From Home หลังโควิด โลกพร้อมแล้ว ไทยพร้อมไหม?

ใครบ้างที่ต้องยื่นแบบภาษี? ขายของออนไลน์-นักกีฬาอาชีพ ก็ไม่รอด

พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำอย่างไร เมื่อลูกวัยรุ่นติดโซเชียลมีเดีย

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน