แนวโน้มส่งออก ปีนี้สดใส ส่งออกเดือนก.ค. ขยายตัว 20.27% เฉลี่ย 7 เดือนแรก โต 16.20% จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก จากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ และค่าเงินบาทอ่อนค่า
กระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกของไทยในเดือนก.ค. 2564 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้วยมูลค่า 22,650.83 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 20.27 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 25.38
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนก.ค. 2564 การส่งออก มีมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.27 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 22,467.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.94 ดุลการค้าเกินดุล 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.20 การนำเข้า มีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 28.73 ดุลการค้า 7 เดือนแรก เกินดุล2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพ ยุโรปทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดีสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ เงินบาท ที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อภาคการส่งออกไทย ทั้งนี้ การส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 16.20 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 21.47 สะท้อนภาคเศรษฐกิจ จริง (Real Sector) ที่เติบโตอย่างชัดเจน



ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 25.8 ขยายตัวทุกตลาด ประกอบด้วย สหรัฐฯ ร้อยละ 22.2 จีน ร้อยละ 41.0 ญี่ปุ่น ร้อยละ 23.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 20.9 อาเซียน (5) ร้อยละ 26.9 CLMV ร้อยละ 16.1 2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 27.6 ขยายตัวเกือบทุกกลุ่มตลาด ได้แก่ เอเชียใต้ ร้อยละ 73.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 12.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 17.9 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 93.5 และรัสเซียและ กลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 53.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลียหดตัวร้อยละ 6.8 และ 3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 76.7
ด้านตลาดส่งออก ขยายตัวเกือบทุกตลาด ตลาดสำคัญ อาทิสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง หากมองในตลาดอาเซียน อาเซียน (5) และ CLMV มีศักยภาพการเติบโต ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะตลาดเมียนมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ ตลาดตะวันออกกลาง ลาติน อเมริกา แอฟริกา และรัสเซียและ CIS มีอัตราการขยายตัวในระดับสูงแทบทั้งสิ้น



แนวโน้มส่งออก ในปี 2564 มีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดีสะท้อนจาก
(1) การขยายตัวของการส่งออก สินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
(2) ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์จึงเป็น ปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อีกทั้งการส่งออกไปยังอาเซียนยังได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าว เช่นกัน แม้ว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรง
(3) มาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และการเร่งฉีด วัคซีนทั่วโลก ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย
(4) ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริม ความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในขณะนี้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ลุ้นกันไปในไตรมาส 4 พ้นบ่วงโควิด เศรษฐกิจไทยผงกหัว พ้นจุดต่ำสุด
โควิดทำตกงานหนักกว่าทุกวิกฤติ กนง.ชี้เศรษฐกิจเสี่ยง ‘ดิ่งเหว’
ตลาดอสังหาฯฟุบหนักจากโควิด-19 คาดใช้เวลา 5-6 ปีฟื้นตัวกลับสู่ปกติ