ยาฟาวิพิราเวียร์

ยาฟาวิพิราเวียร์ ใช้เพื่อลดอาการ ไม่ใช่รักษาโควิด

ยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีความเข้าใจผิดว่าเป็นยาป้องกันการติดเชื้อและฆ่าเชื้อได้ แม้ว่าองค์การอนามัยโลก(WHO) มีผลศึกษามานาน ตั้งแต่เริ่มการระบาดว่าไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็มักจะมีประเด็นเป็นระยะใน “โลกโซเซียล” โดยเฉพาะจากผู้ที่ชอบอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมักจะมีความเห็นเปลี่ยนไปรายวัน

อาการปวดหัวของเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ต่อการชี้แจงประเด็นรายวันที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ โดยล่าสุดกรณีของยาฟาวิพิราเวียร์ โดยยืนยันผลการศึกษาตั้งแต่การระบาดรอบแรกในไทยปี 2563 พบว่าหากได้รับยาเร็วตั้งแต่เริ่มมีอาการภายใน 4 วัน ช่วยลดอาการรุนแรงได้ร้อยละ 30 สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศ แต่ไม่ใช่การรักษาโควิด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่ายาฟาวิพิราเวียร์กับการรักษาโควิด 19 เป็นคนละเรื่อง ปัจจุบันยังไม่มียาที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็นยารักษาโควิด 19

การนำยาฟาวิพิราเวียร์มาใช้ในการรักษา เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์ยับยั้งจำนวน RNA ทำให้กำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

ในการระบาดระลอกแรกปี 2563 มีการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศต่าง ๆ เช่นประเทศจีน พบว่า ลดการติดเชื้อได้ดีกว่าใช้ยาต้านไวรัสโลพินาเวียร์ (Lopinavir) และยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ที่รัสเซียพบว่า กำจัดเชื้อโควิด 19 ได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐานในวันที่ 5

นอกจากนี้การศึกษาจากหลายสถาบันของไทยในการระบาดระลอกแรกปี 2563 จำนวน 424 คน พบว่า หากได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ภายใน 4 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการจะลดความรุนแรงได้ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลังมีอาการ 4 วัน

อนึ่ง จากการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มเล็ก ๆ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่ากลุ่มที่มีอาการปอดบวมรุนแรงอาการจะดีขึ้นเฉลี่ยภายใน 14 วันส่วนกลุ่มที่ปอดบวมไม่รุนแรงจะดีขึ้นใน 9 วัน

คณะกรรมการกำกับการดูแลรักษาโรคโควิด 19 ที่ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จากกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น และโรงเรียนแพทย์ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ เป็นต้น จึงได้กำหนดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ไว้ในแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีการทบทวนและปรับปรุงเป็นระยะ จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ทั้งประสบการณ์ดูแลรักษาผู้ป่วย และรายงานการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งได้หารือเพื่อทำการศึกษาวิจัย ยาใหม่ๆ เช่น ยาไอเวอร์เม็คติน ฟลูวอกซามีน เป็นต้น

สำหรับการวิจัยของ HITAP ได้ทบทวนจาก 12 การศึกษาในต่างประเทศ บางรายงานพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์   มีประสิทธิผลในการรักษาโควิด และบางรายงานไม่มีประสิทธิผล ซึ่งประสิทธิผลในการรักษาต้องพิจารณาจากหลายประเด็น เช่น ความรุนแรงของผู้ป่วยโควิด สถานที่การศึกษา เช่น ในหอผู้ป่วยนอก/ หอผู้ป่วยใน ขนาดและปริมาณยาที่ใช้รักษาที่แตกต่างกัน เป็นต้น

ส่วนใหญ่ใน 12 การศึกษาเป็นการเปรียบเทียบกับยาอื่น ๆ ที่ใช้รักษาในแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาที่มีผลเหมือนกันคือ ยาฟาวิพิราเวียร์ มีประสิทธิผลในการลดอาการทางคลินิกใน 7 วัน และ 14 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้ยา ซึ่งสนับสนุนแนวทางการรักษาของไทยที่ปรับปรุงล่าสุด ฉบับที่ 17 ที่เริ่มให้ยาเร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มมีอาการ

ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ ค้นพบโดยบริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะเคมิคอล ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี 2557-2559 และในการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อุบัติใหม่ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว

สำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ประเทศจีนได้ให้การรับรองว่ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพต่อต้านโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563

ฟาวิพิราเวียร์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแหลงภายในเซลล์เป็นสารฟาวิพิราเวียร์ อาร์ทีพี ทั้งนี้ ยาชนิดนี้มีผลป้องกันการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส แต่ไม่มีผลยับยั้งการสังเคราะห์ RNA หรือ DNA ของเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อต้นเดือน เม.ย. สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เพิ่งจะเริ่มโครงการทดสอบทางคลินิกในการใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยที่พักฟื้นจากโควิด-19 และสถานรักษาตัวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล โดยโครงการได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครผู้ป่วยโควิดเข้าร่วมการรักษาจากทางบ้าน

ฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาชนิดที่ 6 ที่เข้าสู่โครงการทดลองรักษาทางคลินิกโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยของสหราชอาณาจักร ภายหลังนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและคณะกรรมการโครงการที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจนำตัวยาชนิดนี้เข้าสู่การทดลองรักษา

ล่าสุด องค์การเภสัชกรรม ได้ผลิตยาฟาเวียร์ (200มิลลิกรัมต่อเม็ด) มีชื่อสามัญทางยา คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) โดยยาฟาเวียร์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสามัญรายแรกของประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานสากล โดยเริ่มผลิตและกระจายให้ผู้ป่วยในไทยแล้ว

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:

อนามัยโลกทดสอบยาเพิ่ม 3 ตัว หวังรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล

รู้จัก “ฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิด-19 รับสถานการณ์ระบาดหนัก

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน