หุ้นสัปดาห์หน้า มีโอกาสร่วงต่อ จากสถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศยังแรง ส่วนค่าเงินบาทแนวโน้มอ่อนค่า หลังทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองตลาด หุ้นสัปดาห์หน้า (16-20 ส.ค.) ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,513 และ 1,500 จุดขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,540 และ 1,555 จุดตามลำดับโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2564 ของไทยสถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศรวมถึงประเด็นการเมืองภายในประเทศส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญได้แก่ยอดค้าปลีกผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่เดือนก.ค.
ตลอดจนบันทึกการประชุมเฟดขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆได้แก่จีดีพีไตรมาส 2/2564 ของญี่ปุ่นและยูโรโซนผลผลิตภาคอุตสากรรมเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่นดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค.ของยูโรโซนการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนส.ค. และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน
หุ้นไทยลดช่วงบวกลงช่วงปลายสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,528.32 จุด เพิ่มขึ้น 0.43% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 83,321.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.53% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 4.34% มาปิดที่ 488.32 จุด
หุ้นไทยปรับตัวขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ท่ามกลางความคาดหวังต่อโอกาสการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน ประกอบกับมีแรงหนุนจากแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร พลังงานและเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี หุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมา ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิดในประเทศที่ยังคงรุนแรงและมีแนวโน้มยืดเยื้อ ตลอดจนปัจจัยการเมืองในประเทศ
ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 ของไทยสถานการณ์โควิดในประเทศและรายงานการประชุมกนง. (BOT MPC Minutes) เมื่อ 4 ส.ค. ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญประกอบด้วยยอดค้าปลีกการผลิตภาคอุตสาหกรรมการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.ค.
ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียและดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค. และบันทึกการประชุมเฟด (FOMC minutes) เมื่อวันที่ 27-28 ก.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามจีดีพีไตรมาส 2/2564 ของญี่ปุ่นและยูโรโซนรวมถึงข้อมูลอัตราดอกเบี้ย LPR และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนก.ค. ของจีนอาทิยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน
เงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าหลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 ปีที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์ฯระหว่างสัปดาห์โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อการระบาดของโควิดในประเทศ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการทยอยปรับลดวงเงินการทำ QE ต่อเดือนลงภายในปีนี้
เงินบาทฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไร ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามความเสี่ยงของโควิดที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนอีกครั้งจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่อง
ในวันศุกร์ (13 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (6 ส.ค.)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
หลายปัจจัยกดดันบาทอ่อนสุดรอบ 3 ปี
บริษัทใน SET50 มีมุมมองเชิงลบ ‘พร้อมกัน’ ครั้งแรกในรอบ 6 ปี
โควิดกระทบเศรษฐกิจ ‘หนักกว่าที่คิด’ กนง.หั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 0.7%