ไทยอาจจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่คิดเครื่องบรรจุวัคซีนอัตโนมัติ ในช่วงที่ต้องรีบเร่งฉีดวัควีนโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดท่ามกลางสถานการณ์การระบาดที่ยังคุมไม่ได้ ซึ่งทำให้ใช้เวลาน้อยลงในจุดฉีดวัคซีนและทำให้ฉีดได้มากขึ้น
สถานการณ์การฉีดวัคซีนล่าสุด จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. – 3 ส.ค. 2564) รวม 18,578,096 โดส ใน 77 จังหวัด จากเป้าหมาย 50 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งจากปัญหาวัคซีนล่าช้าและเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน พัฒนาต้นแบบเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติ (Automate Vaccine) ซึ่งสามารถบรรจุได้เร็ว แม่นยำและทำให้ฉีดวัคซีนได้เพิ่มขึ้น 20%
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สาธิตเครื่องบรรจุวัคซีนต้นแบบ โดยกล่าวว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนชนิดบรรจุหลายโดส (Multiple Dose Vial) โดย 1 ขวดใช้สำหรับฉีด 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร แต่ผู้ผลิตบรรจุวัคซีนมาให้เกิน คือ บรรจุมา 6.5 มิลลิลิตร

ที่ผ่านมาบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝน มีทักษะสามารถดูดวัคซีนได้มากถึง 11-12 โดสต่อขวด โดยต้องใช้เข็มฉีดยาชนิดที่ลดปริมาณยาคงค้างในกระบอกฉีดยา (Low Dead Space Syringe) ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการใช้จำนวนมาก ทำให้เกิดความขาดแคลน
การแบ่งบรรจุวัคซีนนั้น เจ้าหน้าที่จะเตรียมเข็มฉีดยาวางไว้บนแท่นจำนวน 12 หลอด จากนั้นนำขวดวัคซีนวางไว้ในจุดที่กำหนด เครื่องจะดูดวัคซีนออกมาจนหมดขวดโดยใช้หัวดูดสุญญากาศใช้หลักการดูดของเหลวโดยมี Air Cushion ทำให้วัคซีนไม่สัมผัสกับหัวดูดโดยตรงแล้วจะเคลื่อนไปแบ่งบรรจุลงเข็มฉีดยาตามจำนวนที่กำหนด คือ 0.5 มิลลิลิตรเท่ากันทั้ง 12 หลอด โดยเครื่องทำงานแบบสายพาน ทำให้แบ่งบรรจุวัคซีนลงหลอดฉีดยาอย่างต่อเนื่อง แม่นยำ และรวดเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 4 นาที จากนั้นปิดหลอดด้วยเข็มฉีดยา และนำมาเก็บใส่ถาดบรรจุวัคซีนเพื่อนำไปใช้ฉีดต่อไป



เครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนช่วยแบ่งเบาบุคลากรทางการแพทย์ในการดูดวัคซีนออกจากขวดได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ทำให้มีวัคซีนในการฉีดเพิ่มขึ้น 20% ช่วยให้จุดฉีดการฉีดวัคซีนในจุดขนาดใหญ่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดการใช้ Low Dead Space Syringe นอกจากนี้ ยังมีความปลอดภัยเพราะกระบวนการไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน เข็มและหลอดฉีดยาที่แบ่งบรรจุจะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกครั้ง จึงไม่มีโอกาสเจือปนกันของวัคซีนแต่ละขวด
นายอนุทิน กล่าวว่าการนำมาใช้งานจริงจะมีการหารือกันอีกครั้ง
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
วัคซีนโควิด-19 คือความหวังเดียว เมื่อโลกต้องอยู่กับไวรัสกลายพันธุ์
วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไหน? ได้รับการยอมรับเดินทางข้ามประเทศมากสุด