รายละเอียด จ่ายเงินช่วยเหลือ “แรงงาน-ผู้ประกอบการ” ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนสำหรับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบประกันสังคมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) เป็นระยะเวลา 1 เดือน
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
1) กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย จะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท/คน เพิ่มเติมจากการที่ลูกจ้างได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกิน 90 วัน ส่วนผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาท /คน
2) ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการเยียวยาดังนี้
-ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค. 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
-กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท
-ผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท
ไม่มีลูกจ้าง-ไม่อยู่ในประกันสังคม รีบลงทะเบียน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่งภายในเดือนก.ค. 2564 รวมทั้งให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ดำเนินการลงทะเบียนในระบบประกันสังคม
นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จะประสานขอความร่วมมือระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์กับสมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหาร ให้ใช้บริการอาหารจากภัตตาคาร ร้านอาหาร และร้านอาหารรายย่อย แม่ค้า พ่อค้า เพื่อดูแลกลุ่มแรงงานในสถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้างด้วย
“สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการในช่วงเดือนก.ค.- ธ.ค. 2564 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่มีกำลังซื้อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปต่อเนื่อง”
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
เยียวยากิจการ-ลูกจ้าง 7.5 พันล้าน รับผลกระทบคุมเข้มโควิด6จังหวัด
ปิดแคมป์คนงานไล่คนกลับบ้าน ระวังโควิดลามต่างจังหวัดรอบใหม่
คุมเข้ม 30 วัน 10 จังหวัดเสี่ยงสูง ร้านอาหาร’กทม.-ปริมณฑล’ห้ามนั่ง