รัฐบาลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิด-19 ในระยะ 1 เดือน ในกิจการและลูกจ้าง พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล 6 จังหวัด จากงบประมาณและเงินกองทุนประกันสังคมประมาณ 7,500 ล้านบาท
ผู้ที่ได้เงินเยียวยา:
-กิจการใน 6 จังหวัด กรุงเทพและปริมณฑล
-ลูกจ้างในระบบประกันสังคม คนละ 2,000 บาท/คน
-ลูกจ้างที่นายจ้างอยู่ในระบบประกันสังคม. คนละ 3,000 บาท/คน ไม่เกิน 200 คน
-จ่ายชดเชย 50% ของค่าจ้าง ไม่เกินคนละ 7,500 บาท กรณีปิดกิจการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่ารัฐบาลจะเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งมาตรการการแพร่ระบาด covid -19 ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราช กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ใน 6 จังหวัดก่อน เป็นระยะเวลา 1 เดือน
รัฐบาลและกองทุนประกันสังคมได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ประมาณ 7,500 ล้านบาท สำหรับกิจการใน 6 จังหวัด ได้แก่ก่อสร้าง ที่พักแรมอำนวยการด้านอาหาร ศิลปะบันเทิง และนันทนาการ โดยรัฐบาลจะได้จ่ายเพิ่มเติมให้ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 2,000 บาท ต่อคน ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท/คน ของลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการหรือบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นเวลา 1 เดือน รวมถึงกระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลในการชดเชย 50% ของค่าจ้าง รวมทั้งการดูในเรื่องอาหารด้วย โดยเฉพาะจะพิจารณานำอาหารจากร้านผู้ประกอบการรายย่อยเข้าไปช่วยสนับสนุนจัดส่งให้กับแคมป์คนงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างรายได้ ผู้ประกอบการร้านอาหารได้อีกทางหนึ่ง
นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลดูแลประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ และจะดำเนินการทุกอย่างอย่างเป็นระบบ รอบคอบรัดกุม เพื่อ ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ทั้งนี้มาตรการ ดูแลผลกระทบดังกล่าว จะนำเข้าหารือที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า วันนี้ได้มีการหารือกันในส่วนภาครัฐ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง บุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนก่อนออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบในคัตเตอร์แรงงานและ 6 จังหวัด ตามที่ได้ประกาศออกไป ซึ่งในระยะต่อไปก็จะมีการดำเนินการให้ทั่วถึง ไปยังกิจกรรมอื่น ๆ ด้วยเหมือนเช่นที่ผ่านมา รวมทั้งจะมีการพิจารณามาตรการใหม่ ๆ ออกมาด้วย ส่วนโครงการคนละครึ่งก็ยังดำเนินการ เป็นไปตามกำหนดที่วางไว้
นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใย กรณีที่มีแรงงานหนีกลับบ้านนั้น ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจพลเรือนปฏิบัติหน้าที่ดูแล เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายกลับบ้าน เพื่อป้องกันระมัดระวังไม่ให้ไปแพร่เชื้อที่อื่น พร้อมยืนยันภูเก็ต sandbox จะเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ควบคู่กับการมีมาตรการด้านสาธารณสุขในการดูแลอย่างเหมาะสม เป็นไปตามที่กำหนดและขอให้ทุกคนช่วยกัน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่ามีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคือ ธุรกิจการก่อสร้าง ที่มีการปิดไซต์งาน และร้านอาหารที่ให้เปิดบริการเฉพาะซื้อกลับไปทานเท่านั้น (Take Away)
ดังนั้น มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระบบประกันสังคมได้ จ่ายชดเชยสิทธิประโยชน์ว่างงานเหตุสุดวิสัยแก่ลูกจ้าง ร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน สุงสุดไม่เกิน 7,500 บาท รวมทั้งภาครัฐยังสมทบเงินเพิ่มเติมทางให้แก่ลูกจ้างในระบบประกันสังคม 2,000 บาทต่อราย กรณีลูกจ้างถูกลดเงินเดือนหรือบางธุรกิจไม่จ่ายเงินเดือน ขณะเดียวกัน นายจ้าง ผู้ประกอบการ ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน เป็นระยะเวลา 1 เดือน
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือ ให้นายจ้างได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท และลูกจ้างที่มีสัญชาติไทยได้รับเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท
สำหรับเงินเยียวยาเหตุสุดวิสัยนั้น ตามกฎหมายประกันสังคมลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนจึงจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน ทำให้ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคมจะไม่ได้รับเงินเยียวยา
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถลงทะเบียนในแอปพลิเคชันถุงเงินผ่านทางโครงการคนละครึ่ง โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยจะได้รับเงินจำนวน 3,000 บาท
สำหรับ แรงงานในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบในแต่ละจังหวัด รวมแล้ว กว่า 690,000 คน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบแรงงานนอกระบบที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมเพิ่มเติมว่ามีจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคมก็จะได้รับความช่วยเหลือตามกฎหมายประกันสังคม ส่วนเงินสมทบเพิ่มเติม 2,000 บาทนั้น จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างสัญชาติไทยเท่านั้น