การบินไทย ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 854 คน มีผล 27 ก.ค.นี้ เหตุปัญหาขาดทุน ต้องทำตามแผนฟื้นฟูกิจการ ลดต้นทุนและปรับองค์กร
นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 026/2564 เรื่อง เลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชยพนักงานจำนวน 854 คน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 27 ก.ค. 2564
ตามประกาศระบุว่าเหตุผลว่าบริษัทประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้บริษัทไม่สามารถประกอบกิจการการบินได้ตามปกติ จนกระทั่งบริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรทุกๆ ด้าน อาทิ ด้านแรงงาน ด้านการลงทุน หรือด้านกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนทุกด้านลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน การปรับปรุงองค์กรดังกล่าว เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้บริษัท สามารถประกอบกิจการต่อไป เพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ รวมถึงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัท
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น บริษัทจึงมีความจำเป็นปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง และต้องเลิกจ้างพนักงานจำนวน 854 คน โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 27 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันฃ(สิ้นสุดเวลาทำการ
ทั้งนี้ บริษัทจะจ่ายค่าชดเชย เงินอื่นๆ ตามกฎหมาย และเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง หรือระเบียบบริษัท ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ประกอบด้วย
1. ค่าจ้างถึงวันทำงานวันสุดท้าย
2. วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้
3. ค่าชดเชย
4. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
5. เงินบำเหน็จ
บริษัทฯจะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้น หลังจากหักภาษี ณ ที่จ่าย (สำหรับพนักงานที่บริษัทไม่ได้รับภาระภาษีให้) และหนี้จำนวนใดๆ ของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างมีอยู่ต่อบริษัท หรือสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด ให้แจ้งและคืนทรัพย์สินของบริษัท ที่อยู่ในความครอบครอง หรือตามที่ได้ทำขึ้นในระหว่างที่เป็นลูกจ้างของบริษัทโดยทันที ซึ่งรวมไปถึงเอกสาร บันทึก รายการ หรือสิ่งที่เก็บข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน ข้อมูลของบริษัทหรือลูกค้า และความลับทางการค้าของบริษัทภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ก่อนสิ้นสุดเวลาทำการ
บริษัท ขอแจ้งย้ำเตือนว่า พนักงานยังคงมีสถานะเป็นพนักงานของบริษัท จนถึงวันที่การเลิกจ้างมีผล ฉะนั้นพนักงาน จึงยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบาย ระเบียบ และคำสั่งของบริษัท ทุกฉบับอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม หากบริษัทพบว่าพนักงานรายใดกระทำการผิดกฎหมาย ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบาย ระเบียบ หรือคำสั่งของบริษัทอาจจะพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับพนักงานอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการเลิกจ้างพนักงานที่กระทำผิดนั้นโดยทันที และไม่จ่ายค่าชดเชย
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ใครคือเจ้าหนี้การบินไทย? เปิดแผนจัดการหนี้มหาศาล 4.1 แสนล้าน