นาซา

นาซาส่งยานอวกาศลูชี่ สำรวจดาวเคราะห์น้อยใกล้ดาวพฤหัสบดี ไขความลับระบบสุริยะจักรวาล

นาซาส่งยานอวกาศลูซี่ (Lucy) สำรวจดาวเคราะห์น้อยใกล้กับดาวพฤหัสบดี หวังไขความลับระบบสุริยะจักรวาล พร้อมส่งขึ้นไปทดสอบพุ่งชน เพื่อป้องกันที่โลกอาจเผชิญกับการพุ่งชนในอนาคต

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) ได้ปล่อยจรวดแอตลาส วี 401 (Atlas V 401) พร้อมยานอวกาศลูซี่ (Lucy) ถูกปล่อยจากฐานปล่อยยานอวกาศหมายเลข 41 (Space Launch Complex 41) ของสถานีกองทัพอากาศเคปคานาเวอรัล ในรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ

การส่งยานอวกาศลูซี่ครั้งนี้ เพื่อเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยโทรจัน (Trojan Asteroid) ใกล้กับดาวพฤหัสบดี เป็นเวลานานถึง 12 ปี เพื่อไขความลับของระบบสุริยะจักรวาล

กำหนดการส่งยานอวกาศของนาซ่าครั้งนี้ จะเริ่มด้วยยานอวกาศลูซี่ ที่จะทะยานขึ้นฟ้าก่อนเช้ามืดในวันเสาร์นี้ หลังจากนั้นอีกเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน ยานอวกาศชื่อ ดาร์ท (DART) จะปฏิบัติภารกิจเพื่อเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยคู่ (double asteroids) เป็นการทดสอบปฏิบัติการเพื่อสกัดไม่ให้ดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้นพุ่งชนโลกในอนาคต

ส่วนในฤดูร้อนปีหน้า นาซ่าเตรียมส่งยานอวกาศอีกลำหนึ่งเพื่อไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่มีแร่นิกเกิลและธาตุเหล็ก ที่เชื่อว่าอาจจะเป็นแกนกลางของสิ่งที่เคยเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในอวกาศ และยังมียานอวกาศลำเล็กกว่าที่ไปด้วยกัน ที่จะแยกออกไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยคู่ชุดอื่นๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2023 แคปซูลอวกาศลำหนึ่งจะถูกปล่อยจากอวกาศลงมายังทะเลทรายในรัฐยูทาห์ โดยจะนำเอาตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยลงมาด้วย ตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวเป็นตัวอย่างแรกที่นาซ่าใช้หุ่นยนต์ OSIRIS-REX ขุดในปีที่ผ่านมา จากดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อว่า เบนนู (Bennu) ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อโลกมนุษย์ในอีกสองถึงสามร้อยปีข้างหน้า

นาซาเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงที่ยานอวกาศของนาซ่าจะไปสำรวจนั้น จะสามารถบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ และเรื่องราวของระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน ซึ่งดาวเคราะห์น้อยไม่ต่างอะไรจากซากฟอสซิลที่จะสามารถบ่งบอกถึงการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์ได้

นอกจากองค์การนาซ่าแล้ว จีนและรัสเซียยังร่วมมือกันเตรียมภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยในปลายทศวรรษนี้อีกด้วย เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการออกแบบ เป็นเหตุผลหนึ่งที่เกื้อหนุนการปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่ว่านี้ เช่นเดียวกับความสนใจในดาวเคราะห์น้อยและอันตรายที่ดาวเหล่านี้อาจจะมีต่อโลก หลุมบ่อบนดวงจันทร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบที่เกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย

การปล่อยยานอวกาศ DART ในวันที่ 24 พ.ย. เพื่อเข้าพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ถือเป็นการทดสอบการป้องกันตนเองในอวกาศที่คาดว่าจะน่าทึ่งและน่าตื่นเต้น หากเป็นไปด้วยดี การพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อยที่ว่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า ห่างจากโลกไป 11 ล้านกิโลเมตร และสามารถมองเห็นได้จากกล้องโทรทรรศน์บนโลก

นาซา

ในขณะที่ภารกิจของลูซี่นั้น เป็นภารกิจที่ใช้เวลานานกว่า และใช้เงินทุน 981 ล้านดอลลาร์ ลูซี่จะมุ่งไปที่กลุ่มดาวเคราะห์น้อย 8 ดวงในกลุ่มดาวเคราะห์น้อยจำนวนนับไม่ถ้วนที่เรียกรวมกันว่า “คณะผู้ติดตามโทรจัน ” (Trojan entourage) ที่โคจรอยู่ด้านหน้าและตามหลังดาวพฤหัส นาซ่ามองว่ากลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจันนี้น่าสนใจและพิเศษมากเพราะเป็นสิ่งที่หลงเหลือจากการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์รอบนอกในจักรวาล

แต่ก่อนที่จะไปสำรวจกับกลุ่มดาวเคราะห์น้อยโทรจันนี้ ยานลูซี่จะบินผ่านสายพานดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ถือเป็นการซ้อมใหญ่ในปี 2025 ก่อนที่ภารกิจของยานลูซี่จะสิ้นสุดในปี 2033

ดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มโทรจันนี้มีขนาดแตกต่างกันไป ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 64 กิโลเมตร ไปจนถึงมากกว่า 100 กิโลเมตร

การตั้งชื่อภารกิจต่าง ๆ ของนาซ่านั้น มักจะเป็นตัวย่อของชื่อเต็ม เช่น DART มาจากชื่อเต็มของภารกิจ คือ Double Asteroid Redirection Test แต่ ยานลูซี่นั้น ไม่ใช่เป็นชื่อย่อแต่อย่างใด แต่เป็นชื่อของ “ลูซี่” ซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลของบรรพบุรุษของมนุษย์เพศหญิงที่ถูกค้นพบในประเทศเอธิโอเปียในปี 1974

ฟอสซิลของ “ลูซี่” ได้เปลี่ยนแปลงความเข้าใจของคนเราในเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ และองค์การนาซ่าก็คาดหวังว่ายานลูซี่จะปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของระบบสุริยจักรวาลของเราเช่นกัน จากการศึกษาดาว ก้อนหิน และวัตถุหลาย ๆ อย่างในอวกาศ

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว , VOA

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

แสตมป์ฉลองครบ 10 ปี แห่งการเฝ้ามอง-ศึกษา’ดวงอาทิตย์’

สุริยุปราคา แถบขั้วโลกเหนือ

ดวงตาจักรวาลจีน

10 ข่าวเด่นรอบสัปดาห์

คณะแพทย์ฯ จุฬาฯ ชูพหุวัฒนธรรม ลดความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพ
ลาแอฟริกา สร้างความเสี่ยงโรคอุบัติใหม่ไทย-เวียดนาม
เตือนไทย-เวียดนาม เสี่ยงโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน ผ่านเส้นทางค้าหนังลาป้อนตลาดจีน
"Work Life Balance ไม่ได้มาฟรี ๆ" ธนา เธียรอัจฉริยะ มองชีวิต-การงาน
ประวัติศาสตร์ไทยในฉลองพระองค์
คีตศิลป์นครศรีฯ สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นแดนใต้
เวิร์กช้อปสื่อ เข้าใจ "ท้องวัยรุ่น"
ศิลปะแห่งความรัก
เรารบกันวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง : ช่อง one31 กับ 8 ปี ทีวีดิจิทัล
สังคมเปลี่ยน สื่อปรับ ช่อง 3 จะไปทางไหน